ไปทำไม พรมแดง คานส์ ?

ไปทำไม พรมแดง คานส์ ?

งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ครั้งที่ 69 เปิดฉากขึ้นอีกครั้ง พร้อมกับข่าวงานพรมแดงที่ได้รับความสนใจมากกว่าภาพยนตร์ที่เข้าฉายเสียอีก

เทศกาลภาพยนตร์เก่าแก่และมีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก คานส์ อินเตอร์เนชันแนล ฟิล์ม เฟสติวัล จากการเป็นเทศกาลที่ดึงเอาผลงานเน้นตัวตนและการสร้างสรรค์ของผู้กำกับ และการยอมรับว่าเป็นแหล่งชุมนุมปรมาจารย์คนทำหนัง บวกกับความคับคั่งของบรรดา “คนดัง” ทั้งดาราหน้ากล้อง และหลังกล้องที่อยากมาเดินทอดน่องริมหาดริเวียร่า กระทบไหล่ คุยธุรกิจต่อยอดหนัง แต่ภาพการเดินพรมแดงที่เทศกาลหนังเมืองคานส์กลายเป็นประเด็นในหน้าสื่อบันเทิงทั่วโลก เมื่อบรรดาดาราชื่อดังพาเหรดกันมาในชุดอลังการ แถมยังมีแคมเปญจากสินค้าที่อาศัยอีเวนต์นี้ มาเป็นจุดสร้างชื่อ และสามารถเรียกความสนใจจากมวลชนวงกว้างที่ไม่สนใจภาพยนตร์ได้อีก

ข่าวการได้ไปเดินพรมแดงที่เมืองคานส์ของนางเอกสาว ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต แทบจะยึดครองหน้าสื่อบันเทิง และทำให้ “คานส์” เป็นที่พูดถึงยิ่งกว่า การคว้ารางวัลปาล์มทองคำ ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของเทศกาลภาพยนตร์แห่งนี้ เมื่อปี 2010 ของภาพยนตร์ไทย ลุงบุญมีระลึกชาติ เสียอีก

และล่าสุดในปีที่ไม่มีภาพยนตร์ไทย ได้รับเลือกเข้าร่วมในสายประกวด มีเพียง “สันติ-วีณา” ภาพยนตร์ไทยที่ได้รับการบูรณะฟิล์มภาพยนตร์หลังจากสูญหายมากว่า 60 ปี และจะได้รับการฉายโชว์ในสายภาพยนตร์คลาสสิก Cannes Classic เท่านั้น

ข่าวของชมพู่ อารยา ที่เตรียมตัวไปเดินพรมแดงในฐานะแบรนด์แอมบาสเดอร์ของเครื่องสำอางฝรั่งเศสในไทย กับการที่ดารารุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่ ก็จะไปร่วมงานในฐานะแบรนด์แอมบาสเดอร์สินค้าอีกยี่ห้อหนึ่ง จึงกลายเป็น เรื่องเกี่ยวกับ “คานส์” ที่อยู่ในสื่อบันเทิงของไทย

ในมุมมองของการตลาด การใช้อีเวนต์ระดับโลกดันแบรนด์สินค้าเป็นทิศทางการตลาดที่ไม่ใหม่ แต่ยังใช้ได้ผลต่อการสร้างภาพลักษณ์ความเป็นระดับโลกของแบรนด์ และสัมผัสได้

ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร หัวหน้าภาควิชาและการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ได้ให้ความเห็นต่อ กรณีนี้ว่า

“อันนี้เป็นทิศทางการตลาดแบบหนึ่ง ที่ทำกันมานานมากพอสมควรแล้ว และมองใน 2 ประเด็น ข้อแรก คือ การใช้เซเลบท้องถิ่นไปงานอีเวนต์ระดับโลก เพื่อเป็นการสื่อสารว่า แบรนด์ของเขาเป็นแบรนด์ระดับโกลบัลที่มาถึงโลคัลได้ และอยากให้คนท้องถิ่นคนไทยซื้อ การสื่อสารกับชาวบ้านว่า ฉันเป็นระดับโลก การส่ง ชมพู่ แบรนด์แอมบาสเดอร์ไปอีเวนต์ระดับโลกเมืองคานส์ก็เพื่อสื่อสารให้ชาวบ้านรู้ว่า แบรนด์ของเขาไม่ธรรมดาเป็นระดับโลก เป็น world class quality ที่คนไทยสามารถสัมผัสได้ เป็นการยกระดับให้เกิดการรับรู้

ประเด็นที่ 2 คือ ทุกครั้งที่ใช้วิธีการแบบนี้มักได้รับความสนใจจากสื่อ การพาชมพู่ไปเดินพรมแดง ไม่ได้เป็นการแค่พูดว่า ได้ไปเดินพรมแดง แต่มันทำให้แบรนด์ของเขาปรากฏตามสื่อต่างๆ ด้วย พูดภาษาชาวบ้านคือ เป็นการพีอาร์ฟรีๆ ไม่ต้องซื้อพื้นที่สื่อให้เสียหลายตังค์ และเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง เพราะคนจะสนใจ ว่า มีดาราไทยไปเดินพรมแดงกับดารานานาชาติระดับโลก ก็มองถึงเรื่องชุดแต่งกาย เข้ามาเดินบนพรมแดง พอยต์ที่คนดูไม่สังเกตหรือไม่สนใจก็คือ เข้ามาเดินตอนไหน และเข้าไปทำอะไรนั่งตรงไหน แค่การได้รับรู้ว่าได้ยืนอยู่บนพรมแดง นักข่าวก็กระพือข่าว ประชาชนก็สนใจ เป็นรูปแบบการประชาสัมพันธ์แบบหนึ่งที่ไม่ได้เสียเงินมากมายแต่ได้รับความสนใจมาก ในแง่การสื่อสารถือว่ามันมีประสิทธิภาพมาก”

ชมพู่เดินพรมแดงมาเป็นปีที่สามแล้ว วิธีการนี้ถือว่า ทำซ้ำได้อีก ได้รับความสนใจมากขึ้น?

“ทำซ้ำได้อีก เพราะมันมีการเปรียบเทียบ ปีที่แล้วเขาใส่ชุดอะไร ปีนี้จะใส่ชุดอะไร ทางแบรนด์จะได้พื้นที่จากสื่อมากขึ้น โดยเฉพาะสื่อบันเทิงที่เข้าถึงมวลชน แต่อาจจะมีระยะยืนไปต่ออีกไม่เกิน 5 ปี เพราะการใช้ดาราพรีเซนเตอร์ต้องหาคนที่เป็น top3 จริง และเป็นพรีเซนเตอร์ที่สามารถนำเสนอบุคลิกภาพของแบรนด์ได้จริง ลอรีอัลเป็นแบรนด์ระดับโลกอยู่แล้ว แต่การใช้พรีเซนเตอร์ดาราต่างชาติคนไทยก็ไม่สนใจมาก เพราะความเข้าใจคือดาราระดับโลกก็ไปเดินงานนี้ได้ไม่ยาก แต่การใช้ชมพู่เป็นดาราไทย จุดสนใจจะมากกว่า”

ผศ.ดร.วิเลิศ กล่าว และให้ความเห็น สำหรับการใช้ชมพู่ ของแบรนด์นี้กับแคมเปญพรมแดงเมืองคานส์ซ้ำหลายปี เพราะ การใช้ดาราใหม่ในระดับท็อป 3 ของเมืองไทยก็หาไม่ง่าย การได้พื้นที่ออกสื่อก็ยากกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการใช้ดาราเป็นพรีเซ็นเตอร์แบรนด์ก็มีอายุขัย ถ้าชมพู่ไม่มีละครหรือกระแสก็อาจจะต้องเปลี่ยน เพราะการตลาดแบบนี้มันจำเป็นต้องใช้ดารามีชื่อเสียงหรือคนที่เป็น influencer ต่อมวลชนจึงจะมีผลต่อการได้รับความสนใจและได้พื้นที่สื่อมาก

ความเป็นระดับโลกที่สัมผัสได้?

ขณะที่ แบรนด์ที่ชมพู่เป็นแบรนด์ความงามและสปอนเซอร์หลักของเทศกาลฯ การใช้การตลาดพาเซเลบไปเดินพรมแดงพร้อมปล่อยสินค้าที่อิงกับอีเวนต์นี้ได้ แต่ในกรณีของ ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่ร์ ที่ถูกสื่อบันเทิงจับคู่ประชันความแรง เมื่อดาวิกาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของสินค้าไอศครีม แม็กนัม ที่จะจัดอีเวนต์ทางการตลาดที่งานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์นี้ด้วย

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า สินค้าต้องเกี่ยวกับความงาม จึงจะไป(ทำการตลาด)เดินพรมแดงได้ เพราะการไปพรมแดงที่คานส์ไม่ได้ไปประกวดแฟชั่นหรือความงาม แต่การไปถึงคานส์ได้แปลว่า คุณเป็นแบรนด์ระดับโลก เพราะฉะนั้นมันคือการสื่อสารเพื่อสร้าง perceptionให้คนเข้าใจ และรับรู้ว่าฉันคือแบรนด์ระดับโลก จะเป็นสินค้าอะไรก็ตาม ก็ไปได้ ความหมายสำคัญคือจะบอกว่า ฉันเป็นเวิลด์คลาสแบรนด์ เป็นโกลบัลแบรนด์ ที่มาถึงประเทศไทย

การพาดาราไทยไป ข่าวมาออกเมืองไทย คนไทยก็สนใจ และเวลาที่คนไทยได้สัมผัสสินค้าเหล่านั้น ความรู้สึกก็เสมือนหนึ่งได้สัมผัสเวิลด์คลาสแบรนด์ที่อยู่ใกล้มือคุณ

“แต่นอกจากการสื่อสารด้วยข่าวดาราไทยไปเดินพรมแดง ไม่พอ ต้องมีการสื่อสารช่องทางอื่น รวมถึงการปล่อยหนังโฆษณาทีวี ตามมาทันที ต้องมีประชาสัมพันธ์ต่อเนื่องของสินค้าที่คอนเทนท์ใกล้เคียงกันไปในทิศทางเดียวกันหลายช่องทางในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน” ผศ.ดร.วิเลิศ เสริม

คานส์ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทั่วโลกกับสถิตินักข่าวลงทะเบียนร่วมงานเกือบห้าพันคน และการเป็นแหล่งชุมนุมของบุคคลในธุรกิจภาพยนตร์และบันเทิงเกี่ยวเนื่อง งานพรมแดงที่มีกองทัพช่างภาพเดินทางมาดักจับภาพ ซูเปอร์สตาร์ ระดับโลกมาทุกยุคทุกสมัย และยิ่งเพิ่มความสนใจมากขึ้นในยุคที่ช่องทางกระจายข่าวรวดเร็ว

เกรียงศักดิ์ ศิลากอง หรือ วิคเตอร์ ผู้อำนวยการเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ หรือ เวิลด์ฟิล์ม ที่ได้ไปร่วมงานเทศกาลสม่ำเสมอในฐานะบุคลากรในวงการภาพยนตร์และได้รับเหรียญเกียรติยศอัศวินด้านศิลปะจากกระทรวงวัฒนธรรมฝรั่งเศสมาแล้ว ได้ให้ความเห็นต่อ ความเฟื่องฟุ้งของงานพรมแดงเมืองคานส์ ที่เอื้อต่อการหยิบยกมาเป็นอีเวนต์ส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์หรือกระทั่ง “เซเลบ” ที่ไปเดินพรมแดงได้ว่า มีปัจจัยหลักๆ ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ของเทศกาล ที่เป็นแหล่งรวมซูเปอร์สตาร์ตั้งแต่ยุคทอง ของ “ดารา”ระดับโลก จนถึง ยุคโซเชียลมีเดียกระพือข่าว

“คานส์เป็นเทศกาลที่จัดงานมีจุดประสงค์เชื่อมต่อหนังในยุโรปและหนังจากทั่วโลก แต่พอยุคใหม่มันต้องการความคึกคัก ยกตัวอย่าง ปี 1990 คานส์เลือกเอาหนังสารคดี In Bed With Madonna ของ มาดอนน่า มาฉาย เพราะเขาอยากให้ มาดอนน่า มาเดินพรมแดง เพราะยุคนั้นไม่มีใครใหญ่กว่ามาดอนน่าแล้ว”

“ทางเทศกาลเองเขาต้องการพาวเวอร์ของดารามาช่วยดึงความสนใจ และการใช้พาวเวอร์ของดารามันก็ไม่ผิด เพราะในยุคก่อนๆ เราก็มี ดาราอย่าง อินกริด เบิร์กแมน โซฟี ลอเรน แต่ในช่วงสิบปีให้หลังผมรู้สึกว่าคานส์เองต้องการดารามากขึ้น เพราะว่า ต้องการดึงคน ซึ่งต้องใช้ดารา มันอาจจะเป็นความฉาบฉวย แต่มันนำมาซึ่งความดัง ถ้าเลดี้กาก้ามาเดิน คานส์ยินดีแน่นอน ทุกเทศกาลในโลกล้วนต้องการสิ่งนี้ ต่อให้เธอไม่ได้เล่นไม่มีหนังฉายในคานส์เลยก็ตาม”

วิคเตอร์ ยกตัวอย่าง ทิศทางของเทศกาลฯที่เอาภาพยนตร์กระแสหลัก มีดาราดังจากฮอลลีวู้ดมาฉายในเทศกาล อาทิ Shrek มาฉายเปิดที่คานส์ ซึ่งดูหน้าหนังไม่น่าจะเข้าแนวทางของหนังในคานส์เป็นต้น

“การจัดพรมแดงคือการให้เกียรติกับหนังและคนทำหนัง นักแสดง โปรดิวเซอร์ ตากล้อง ผู้กำกับ ถ้าขนมาได้มาเลยและเป็นการมาร์เก็ตติ้งของบริษัทหนังและผู้จัดจำหน่าย การเดินพรมแดงแสดงตัวเข้าสายประกวดในแง่การซื้อขายนะ มันกระตุ้นการขายด้วยว่า หนังฉันเข้าสายประกวดนะ จะซื้อก็รีบซื้อซะ เพราะถ้าฉันได้รางวัลมา หนังจะขึ้นราคานะ นั่นคือการสร้างมูลค่าในเชิงธุรกิจหนัง แต่ความเว่อวังของมันก็มี ภาพดาราบนพรมแดง มีช่างภาพถ่ายและอัดภาพขาย ให้แฟนหนังที่คลั่งดาราที่มางานนี้ด้วยนะ มันเป็นการประชาสัมพันธ์ การทำตลาด”

ใครบ้างเดินพรมแดงในวัน กาล่าพรีเมียร์ ?

วิคเตอร์เล่าว่า มีตั้งแต่คนในโปรดักชั่น คนทำหนังนักแสดงผู้กำกับ กรรมการ ดารารับเชิญ รวมถึงคนดูที่เขาซื้อตั๋วรอบนั้นมาดูหนัง ซึ่งโรงหนังที่เขาฉายรอบกาล่ามันใหญ่มาก คนซื้อตั๋วไปดูเขาก็มาเดินผ่านพรมแดงอันนั้นไปด้วย

สำหรับคานส์ พรมแดงโด่งดังเป็นที่สนใจมากกว่าเทศกาลอื่นๆ หรือไม่ วิคเตอร์ ให้ความเห็นว่า จากประสบการณ์ตระเวนเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลก คานส์ได้เปรียบในด้าน “ทำเล” และ “ช่วงเวลา” เพราะคานส์เป็นเมืองริมหาด และอากาศกลางเดือนพฤษภาคมทางใต้ฝรั่งเศส สบายๆ และเหมาะกับการเดินเล่นของเหล่าดาราที่มีท่าเรือยอทช์รองรับเรือหรูของพวกเขาได้ชมทะเล มาคุยธุรกิจและมางานหนังด้วย ส่วนคนทั่วไปก็ได้มาชมความงามหรือกระทั่งการมาแต่งตัวสวยๆ เดินเล่นทุกอย่างเป็นใจ

“ถ้าเทียบกันแล้ว พรมแดงแต่ละเทศกาลมันไม่มีใครใหญ่กว่าใครหรอกแต่ที่คานส์อาจได้เปรียบทำเลและอากาศ” วิคเตอร์ กล่าว โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสองเทศกาลหนังที่ใหญ่ และเก่าแก่ไล่เลี่ยกันในยุโรป อย่าง เทศกาลหนังเบอร์ลิน ที่เยอรมนี ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งอากาศหนาวติดลบ และ เทศกาลหนังเวนิซ ที่อิตาลี ช่วงเดือนกันยายน ที่อากาศร้อนแทบจะสุก

วัฒนธรรมพรมแดงนี้ วิคเตอร์บอกว่า ในแง่คนดูหนังจริงๆ มันไม่น่าสนใจหรอก มันมีความตลกอย่างหนึ่งคือ การไปดูหนังที่คานส์ อย่างหนังของอภิชาติพงศ์ เราต้องใส่ทักซิโด้หรูหราไป แต่ในหนังไม่มีอะไรแบบนั้นเลย มันก็เลยดูเป็นความตลกขำๆ แต่ก็เป็นเรื่องของธรรมเนียมปฏิบัติในอุตสาหกรรมนั่นเอง บางทีเราก็ให้ความใส่ใจกับมันมากไป ความ absurd ของงานพรมแดงในคานส์ก็มีมาก

“เราให้ความสำคัญกับพรมแดงเกินไป จริงๆ มันเดินแค่แวบเดียว ถ่ายรูปแล้วก็ไล่เข้าโรงภาพยนตร์แล้ว”

ภาพยนตร์ไทยที่เข้าสายประกวดหลักและมีผู้กำกับและนักแสดงชาวไทยร่วมเดินพรมแดงที่คานส์ที่ผ่านๆมา รวมถึง อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ศักดา แก้วบัวดี หญิง รฐา โพธิ์งาม และ วิทยา ปานศรีงาม (จากภาพยนตร์อเมริกัน Only God Forgives)

ศักดา แก้วบัวดี นักแสดงหลักในภาพยนตร์ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่มีโอกาสได้เดินพรมแดงในคานส์ ถึง 3 ครั้ง ในฐานะ นักแสดงของภาพยนตร์ที่ได้รับคัดเลือกอย่างเป็นทางการในเทศกาล (Official Selection) ได้เล่าถึงประสบการณ์จากครั้งแรกเมื่อปี 2004 จากเรื่อง สัตว์ประหลาด ที่เขาบอกว่ามาจากมือใหม่ได้แสดงหนังเรื่องแรกก็ได้ไปงานพรมแดงระดับโลกก็ตื่นเต้นมาก

“ตอนนั้นคิดว่าคนอื่นเขาไฮโซเป็นดาราดัง เราเป็นแค่เด็กบ้านนอกคนหนึ่ง ไปแบบหน้าตาไม่ได้แต่งเลย”

ศักดา ได้ขึ้นเวทีรับรางวัล Jury Prize ร่วมกับอภิชาติพงศ์ เมื่อปี 2004

“มีรถลีมูซีนของเทศกาลมารับถึงห้องพักและมาถึงไซต์งาน ก็มีนักข่าวเต็มไปหมด เขาไม่รู้จักเราหรอก แต่เขาจะรับรู้ว่าเราเป็นนักแสดงจากภาพยนตร์ที่เข้าสายประกวด” ศักดาเล่า โดยเขาบอกว่าหลังจากทำงานกับอภิชาติพงศ์และไปคานส์ครั้งที่สองและสาม และเผยถึงเบื้องหลังการเตรียมตัวไปร่วมงานว่า ทางเทศกาลกำหนดเพียงแต่งตัวเรียบร้อยให้เหมาะกับงาน ครั้งแรกที่เขาไปยังไม่ได้มีคนเตรียมเสื้อผ้าให้ แต่ในครั้งที่สองทีมโปรดิวเซอร์จากบริษัทที่ฟ้า ที่มาร่วมโปรดิวซ์จัดเตรียมพาไปตัดสูทในร้านที่เหล่าดาราแกรมมี่เป็นลูกค้าประจำ

“ตื่นเต้นอยู่นะ เพื่อถ้าไม่ได้เล่นหนังของพี่เจ้ย ก็คงไม่ได้ไปแบบนี้ ไปหลายครั้งก็รู้สึกบรรยากาศมันยิ่งใหญ่ ผมชอบนะ แต่พี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์) ไม่ชอบ” ศักดา เล่าความรู้สึกกับการไปครั้งที่สองที่สาม “ที่ชอบอีกอย่างคือ การได้เจอนักแสดงที่ผมชอบด้วย”

“หนังเรื่องที่ฉายเปิดตัวเปิดพรมแดง นักแสดงที่มาร่วมงานทุกคนสามารถมาร่วมเดินพรมแดงได้ อย่างผมไปคานส์ปีที่แล้ว ผมอยากไปดู Carol ผมก็ไปงานพรมแดงด้วย ส่วนคนดูเขาก็มาได้นะแต่ต้องไปลงทะเบียนและจองบัตรซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่าคนที่ไปแขกเทศกาลอยู่แล้วล่ะ”

 “หนังในคานส์ มันจะออกแนวหนังอาร์ตมากกว่าหนังตลาด และมันหาน้อยมากที่จะหรูหรา ซึ่งทางเมืองคานส์เปิดให้มีการเดินพรมแดง มันไม่ได้เกี่ยวกับรสนิยมของหนัง หรือธีมหนัง แต่เขาจัดพรมแดงเป็นเกียรติให้กับคนทำหนังที่ไปร่วมงานเทศกาลครับ”

อย่างไรก็ตาม ศักดา ให้ความเห็นต่อความหรูหราของพรมแดงคานส์ว่า ชื่อคานส์ เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ ความภูมิใจมันมี มีนักแสดงฮอลลีวู้ดมาเยอะก็ยิ่งคึกคักและมันก็ได้รับความสนใจและมันดูสำคัญสำหรับคนดูในวงกว้างด้วย

---------------

หนังไทยในคานส์

สายชิงปาล์มทอง (Main Competition)

สัตว์ประหลาด(2004)

ลุงบุญมีระลึกชาติ (2010)

ในสาย Un Certain Regard

ฟ้าทะลายโจร (2001) โดย วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง

โรงงานอารมณ์ (Pleasure Factory-2007) โดย เอกชัย เอื้อครองธรรม (ไทย-สิงคโปร์)

ฉายปิดเทศกาล

Re-Cycle (2006) โดย แดนนี่และออกไซด์ แปง ทุนร่วมไทย-ฮ่องกง 

สาย Directors' Fortnight

พลอย (2007) โดย เป็นเอก รัตนเรือง

สายหนังสั้นของนักเรียนนักศึกษา Cinefondation

Graceland (2006) โดย อโนชา สุวิชากรณ์พงศ์

ภาพยนตร์ไทยโดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้รับคัดเลือกอย่างเป็นทางการ (Official Selection) 5 เรื่อง

สุดเสน่หา (2002) ในสาย Un Certain Rega rd และคว้ารางวัลยอดเยี่ยมสายนี้

สัตว์ประหลาด(2004) ในสาย Main competition และคว้ารางวัล Jury Prize รางวัลรองชนะเลิศจากปาล์มทอง

ลุงบุญมีระลึกชาติ (2010) ในสาย Main competition และคว้ารางวัลสูงสุด ปาล์มทองคำ

Mekong Hotel (2012) ในสาย Special Screenings

รักที่ขอนแก่น (2015) ในสาย Un Certain Regard Award

อภิชาติพงศ์ ได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัลปาล์มทองปี 2008 ซึ่งมี ฌอน เพนน์ นักแสดงฮอลลีวู้ดเป็นประธานกรรมการ

--------

สถิติน่ารู้ที่เมืองคานส์

- ประชากรเมืองคานส์ ปกติมีราว 7 หมื่นคน แต่ในช่วงงานเทศกาลฯ กลางเดือนพฤษภาคม มีเพิ่มขึ้นเป็น 2 แสน 1 หมื่นคน

- ปี 2015 สถิตินักข่าว 4500 คน ลงทะเบียนมาทำข่าวเทศกาลภาพยนตร์ที่เมืองคานส์ และถือเป็นอีเวนต์ที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทั่วโลก พอๆกับ มหกรรมกีฬาโอลิมปิกและงานซูเปอร์โบลว์

- ปี 2016 มีตัวเลข ผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน 12,000 คนในตลาดภาพยนตร์ ซึ่งเปิดให้บุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งผู้ผลิตและ ผู้จัดจำหน่าย มาเจรจาธุรกิจ ซื้อและขายภาพยนตร์ ควบคู่ไประหว่างงานเทศกาลภาพยนตร์

 - ปาเลส์ เดส์ เฟสติวาล (Palais des Festivals) ซึ่งเป็นสถานที่จัดฉายภาพยนตร์ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าสายประกวดหลักเพื่อชิงรางวัลปาล์มทองคำ (Main Compettition) และเป็นสถานที่จัดงานพรมแดง ปูพรมสีแดงความยาว 60 เมตร เปลี่ยนพรมแดงทุกวัน และมีการจัดงานฉายภาพยนตร์ที่นี่วันละ 3 เรื่อง หมายถึงมีงานพรมแดงวันละ 3 รอบ

- ผู้มาเดินพรมแดงและร่วมชมภาพยนตร์รอบกาลาพรีเมียร์ ต้องเดินขึ้นบันได 24 ขั้น ที่เป็นส่วนหนึ่งของพรมแดงขึ้นไปสู่ทางเข้าโรงภาพยนตร์ที่ อาคารปาเลส์ เดส์ เฟสติวาล นั้น เป็นจุดถ่ายภาพที่มีป้ายชื่อเทศกาลเป็นฉากหลัง

- ภาพยนตร์ที่เข้าฉายในสายประกวดชิงปาล์มทองปีนี้ มี 21 เรื่อง นั่นหมายถึงกาล่าพรีเมียร์เดินพรมแดง 21 รอบ ขณะที่ภาพยนตร์เรื่องยาวที่จะเปิดฉายในเทศกาลนี้มทั้งหมด 89 เรื่อง โดย 59 เรื่องเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับคัดเลือกจากเทศกาลในสายต่างๆ คานส์ยังมีโปรแกรมฉายและมอบรางวัลให้กับภาพยนตร์สั้นด้วย

- หลังจากเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายโจมตีปารีสเมื่อเดือนพฤศจิกายนทีผ่านมา ทางการฝรั่งเศสได้จัดเตรียมมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดกว่าทุกปี และทางเทศกาลฯได้เตรียม รปภ.บริเวณ ปาเลส์ เดส์ เฟสติวาล ถึง 500 นาย ยังไม่รวมทหารหน่วยปราบจราจลและตำรวจดูแลความปลอดภัยอีกหลายร้อยนาย