เสวนา ชมการแสดง ช้อปปิ้งสินค้าวัฒนธรรม งาน 112 ปี แห่งการสถาปนา 'กรมศิลปากร'
เปิดหัวข้อเสวนาความเชื่อ วิชาการ ชมการแสดงดนตรี ช็อปปิ้งสินค้าวัฒนธรรม ในงาน ‘112 ปี แห่งการสถาปนา กรมศิลปากร’ อาทิ เครื่องถ้วยเวียงบัว มาสคอตคุณทองโบราณ เสื้อยืดลายเส้นจิตรกรรม อ.ประสงค์ ปัทมานุช ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
นับแต่ รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้ง กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2454 สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 112 ปีที่ ‘กรมศิลปากร’ ดำเนินภารกิจหลักในการธำรงรักษา อนุรักษ์ ฟื้นฟู เผยแพร่ สืบสาน สร้างสรรค์ พัฒนามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ
นายพนมบุตร จันทรโชติ
ดังนั้นเมื่อวันจันทร์ที่ 27 มี.ค.2566 นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร จัดงานแถลงผลงานเนื่องในโอกาส 112 ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร เดินหน้า ‘อนุรักษ์ สืบทอด ต่อยอดมรดกศิลปวัฒนธรรม จากคุณค่าสู่มูลค่า’ และเปิดตัว Application ชื่อ FADiscovery สร้างประสบการณ์ใหม่ในการเที่ยวชมแหล่งเรียนรู้มรดกศิลปวัฒนธรรม ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เวลา 15.30 น.
พร้อมเชิญชวนประชาชนที่สนใจเข้าร่วม กิจกรรม 112 ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร อาทิ การเสวนาวิชาการ พร้อมรับชมการแสดงนาฏศิลป์และดนตรี โดยสำนักการสังคีต ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ 27-29 มีนาคม 2566
พิธีเปิดงาน ‘112 ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร’
กำหนดการเสวนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 112 ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
วันอังคารที่ 28 มีนาคม 2566
- 09.00-12.00 น. หัวข้อ โบราณเมือง : การดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบด้านโบราณคดีจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน วิทยากรโดย บวรเวท รุ่งรุจจี อดีตอธิบดีกรมศิลปากร, กิตติพันธ์ พานสุวรรณ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร, รศ.วิเชษฐ์ สุวิสิทฐ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, พรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิกชำนาญการพิเศษ สำนักสถาปัตยกรรม
- 13.00-16.00 น. เสวนาทางวิชาการ หัวข้อ ระเบียบ ขั้นตอน การขออนุญาตสร้างอนุสาวรีย์ วิทยากรโดย สุรัฐกิจ พีรพงศ์ศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักช่างสิบหมู่, พรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิกชำนาญการพิเศษ สำนักสถาปัตยกรรม, อภิศักดิ์ ทองอินทร์ ประติมากรปฏิบัติการ
วันพุธที่ 29 มีนาคม 2566
- 09.00-12.00 น. หัวข้อ นาค : ความเชื่อความศรัทธาในวัฒนธรรมไทย วิทยากรโดย ศ.พิเศษธงทอง จันทรางศุ, เอมอร เชาว์สวน ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณ วิทยากรดำเนินรายการ ชญานิน นุ้ยสินธุ์ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
- 13.00-16.00 น. เสวนาทางวิชาการ หัวข้อเรื่อง สังคีตปริทัศน์ โดย สำนักการสังคีต
การแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดนางลอย ทศกัณฐ์ยกรบ
การแสดงเนื่องในโอกาส 112 ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร นำแสดงโดยศิลปินสำนักการสังคีต กรมศิลปากร อำนวยการแสดงโดย ลสิต อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต ณ เวทีกลางแจ้ง บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ 27-29 มีนาคม 2566 เวลา 18.00 น.
โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 27 มีนาคม 2566 เป็นการแสดง โขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดนางลอย ทศกัณฐ์ยกรบ
- วันอังคารที่ 28 มีนาคม 2566 ชม การบรรเลงดนตรีสากล ‘กำเนิดวงสากลในประเทศไทย เล่าขนานตำนานเพลงไทย ๑’ อำนวยเพลงโดย ธนู รักษาราษฎร์ อาทิ เพลงฝนเดือนหก ธนูรัก น้ำตาลใกล้มด
- วันพุธที่ 29 มีนาคม 2566 ชมการบรรเลงดนตรีสากล ‘กำเนิดวงสากลในประเทศไทย เล่าขนานตำนานเพลงไทย ๒’ อำนวยเพลงโดย นาวี คชเสนี ขับร้องโดย ถิรวัฒน์ ศรีสุรางค์, ธนิษฐา นิลบุตร, ณัฐริกา เอี่ยมท่าไม้, โฉมวิลัย ยูฮันเงาะ, รัฐพงศ์ ปิติชาญ อาทิเพลงบ้านทรายทอง เชื่อฉัน เล่าสู่กันฟัง ไม้ขีดไฟกับดอกทานตะวัน, If you go away
การออกร้านของสำนักงานศิลปากร
นอกจากนี้ กรมศิลปากรยังเชิญ สำนักศิลปากร 12 สำนักทั่วประเทศ นำผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมและสินค้าท้องถิ่น ของที่ระลึกและหนังสือกรมศิลปากร ลดราคาพิเศษ ณ บริเวณสนามหญ้า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ 27-29 มีนาคม 2566
บูธแรกที่ขอพาไปเยี่ยมชมคือ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นำเครื่องประดับที่เป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมจาก ‘พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกาญจนาภิเษก ปทุมธานี’ มาร่วมจำหน่าย อาทิ เข็มกลัด ที่เลียนแบบรูปลักษณ์มาจาก เฉลว งานหัตถกรรมจากความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ที่นำไม้ไผ่มาสานเป็นเครื่องรางหรือของศักดิ์สิทธิ์ปักไว้บนหม้อต้มยา
ร้านค้าจาก สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
คนรักงานศิลปะไม่ควรพลาดกับเสื้อยืดลายภาพวาดผู้ชายและผู้หญิง ลิมิเต็ด อิดิชั่น เนื่องจากเป็นภาพวาดลายเส้นของ อ.ประสงค์ ปัทมานุช (พ.ศ.2461 – 2523) ศิลปินผู้มีผลงานโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มีความหลากหลายทั้งรูปแบบของผลงานและการใช้สี อาทิ ผลงานแบบไทยประยุกต์ ผลงานแบบคิวบิสม์ และผลงานนิเทศศิลป์
อ.ประสงค์สร้างสรรค์ผลงานแบบไทยประยุกต์ โดยการนำภาพจิตรกรรมแบบไทยประเพณีมาสร้างสรรค์ด้วยวิธีการจัดองค์ประกอบแบบสมัยใหม่ นิยมใช้ ‘ภาพกาก’ หรือภาพที่อยู่นอกเหนือจากเรื่องราวหลักในงานจิตรกรรมแบบไทยประเพณี เช่น ภาพวิถีชีวิตของชาวบ้าน มาใช้เป็นหัวข้อหลักในการเขียนภาพ
ภาพวาดผู้ชายโดย ประสงค์ ปัทมานุช บนเสื้อยืดลิมิเต็ด อิดิชั่น
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เคยกล่าวถึงผลงานของ อ.ประสงค์ ไว้ว่า “…ภาพเขียนอันวิจิตรของนายประสงค์ ปัทมานุช แสดงให้เห็นถึงความฉลาดในการจัดโครงสร้างสีให้เข้ากันอย่างสวยงาม นายประสงค์มีความรู้สึกทางสีสูงยิ่ง ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับศิลปโบราณของเราอย่างแท้จริง นายประสงค์เป็นผู้ที่รักศิลปของตน แม้จำต้องทำงานซึ่งไม่ตรงกับอุปนิสัยของตนก็ตาม ก็พยายามส่งงานจิตรกรรมแสดงทุกปี นี่คือการเรียกร้องที่แท้จริงของศิลป และด้วยเหตุนี้เองที่เรากล่าวกันว่าศิลปเพื่อศิลป…”
อ.ประสงค์ ปัทมานุช ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2529
เสื้อยืดลายผู้ชายและผู้หญิงจากลายเส้นตามแบบฉบับของ อ.ประสงค์ ปัทมานุช มีจำหน่ายจำนวนจำกัดเฉพาะในกิจกรรม ‘ครบรอบ 112 ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร’ 27-29 มี.ค.2566 นี้เท่านั้น
ไชโป้วหวาน ยี่ห้อ ‘ตราชฎา’
สำนักงานศิลปากรที่ 1 ราชบุรี นำผลิตภัณฑ์อาหารท้องถิ่นขึ้นชื่อในพื้นที่มาร่วมออกร้าน อาทิ ไชโป้วหวาน ยี่ห้อ ‘ตราชฎา’ ต้นตำรับไชโป้วราชบุรี คุณภาพมาตรฐานส่งออก, หอยดอง หอยแมลงภู่ดอง ไม่ใส่สีไม่ใส่สารกันบูด วันแรกนำมาขาย 16 ขวด หมดเกลี้ยง
ขณะที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี (พื้นที่ในความดูแลของสำนักงานศิลปากรที่ 1) นำ น้ำตาลสด และ ขนมหม้อแกง ของดีประจำจังหวัดเพชรบุรีมาร่วมออกร้าน
สำนักงานศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ซึ่งดูแลอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ กาญจนบุรี นำผลิตสินค้าท้องถิ่นขึ้นชื่อเมืองกาญจน์ มะขามเปียก และ กุนเชียงปลาสลิด มาให้ซื้อถึงที่
ปาริชาติ แก้วมณี (ขวา)
สำนักงานศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา คนมุงไม่หยุดกับผลิตภัณฑ์ ผ้าลายอย่างประยุกต์ ของชมรมส่งเสริมวัฒนธรรมเมืองกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
คุณปาริชาติ แก้วมณี ประธานชมรมฯ กล่าวว่า ‘ผ้าลายอย่าง’ เป็นผ้าในราชสำนักสมัยกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นผ้าที่ออกแบบโดยราชสำนักสยามแล้วส่งไปพิมพ์ที่ประเทศอินเดีย ของแท้เป็นผ้าฝ้าย ราคาสูง
ทางชมรมฯ มีความคิดอย่างให้อยากให้ผู้บริโภคจับต้อง ‘ผ้าลายอย่าง’ และซื้อได้ในวงกว้างขึ้น จึงปรับมาใช้ผ้าฝ้ายผสมโทเร สามารถลดราคาลงมาขายได้ที่ผืนละ 1,300 บาท ผ้ายาว 4 เมตร หน้ากว้าง 1.13 เมตร สามารถนำไปนุ่งโจง นุ่งจับจีบหน้านาง และตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปในสไตล์ที่คุณชอบ
คุณปาริชาติกล่าวว่า งานวันแรกตอนเช้านำมา 30 ผืน แต่ละผืนลวดลายไม่ซ้ำกัน เช่น ลายดอกไม้ ลายนกยูง ถอดแบบจากผนังโบสถ์ หกโมงเย็นเหลือ 8 ผืน
ปลาส้มฟัก
สำนักงานศิลปากรที่ 4 ลพบุรี นำผลิตภัณฑ์อาหาร ปลาส้มฟัก อาหารท้องถิ่นขึ้นชื่อของชาวไทยพวน จ.ลพบุรี ใครไปลพบุรีก็มักต้องซื้อติดมือกลับบ้าน
คำว่า ‘ฟัก’ เป็นภาษาท้องถิ่นชาวไทยพวน หมายถึงการฟันถี่ๆ หรือการสับ ชาวไทยพวนนำปลาน้ำจืดเนื้อขาวมาสับแล้วหมักกับข้าวสาร เกลือ กระเทียม กินได้ทั้งแบบนึ่งและทอด นอกจากนี้ยังมีแหนมปลากราย ไข่เค็ม
ผลิตภัณฑ์แปรรูปเสื่อกกบ้านบางพลวง
สำนักงานศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี นำผลิตภัณฑ์แปรรูปจาก กก ของวิสาหกิจชุมชนแปรรูปเสื่อกกบ้านบางพลวง จ.ปราจีนบุรี ผลิตจากต้นกกเส้นกลม แปรรูปเป็นกระเป๋า เสื่อพับ เสื่อผืน หมอน กล่องใส่ทิชชู่ ที่รองแก้ว รองจาน รองเท้า และอื่นๆ อีกมากมาย คุณภาพระดับส่งออกไปญี่ปุ่น
เสื่อกกบางพลวง ก่อตั้งโด คุณชุ่ม ยะประดิษฐ์ ผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น ‘ช่างหัตถศิลปไทย ภาคกลาง ประเภทเครื่องจักสาน’ ประจำปี 2555
เครื่องถ้วยเวียงบัว
สำนักงานศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ นำ เครื่องถ้วยเวียงบัว ภาชนะเซรามิกสินค้าชุมชนในพื้นที่ที่ขุดค้นพบเตาเผาโบราณเวียงบัว จังหวัดพะเยา ชาวบ้านจึงรวมตัวผลิตเซรามิกด้วยสีและน้ำเคลือบที่ใกล้เคียงกับภาชนะที่ขุดค้นพบจากเตาเผาโบราณเวียงบัว
เตาเผาภาชนะเวียงบัว ตั้งอยู่ในบ้านบัว ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา มีเตาที่ได้รับการขุดค้นแล้วคือ ‘เตาเก๊ามะเฟือง’ ในที่ดินของนายจันทร์ เฉพาะธรรม โดยการดำเนินการของ ศ.สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับชาวบ้านบ้านบัว เมื่อพ.ศ.2548 และพบเตาเผาภาชนะกว่า 30 เตา
บริษัทกรุงเทพประกันภัย ได้สนับสนุนเงินทุนเพื่อดำเนินการพัฒนาเตาเก๊ามะเฟืองให้เป็นพิพิธภัณฑ์และศูนย์เรียนรู้เครื่องถ้วยเวียงบัว
ลวดลายที่ค้นพบบนเครื่องถ้วยเวียงบัว
ปัจจุบันนายศักดา เฉพาะธรรม และนาย พรศักดิ์ เฉพาะธรรม ลูกและหลานชายเจ้าของที่ดิน เป็นผู้ดูแลเตาเก๊ามะเฟืองและอาคารนิทรรศการ
ทั้งสองท่านได้เข้ารับการอบรมผลิตเครื่องถ้วย และลองผิดลองถูก จนค้นพบแหล่งดินเดิมของแหล่งเตาเผาเวียงบัว และได้นำดินจากแหล่งดังกล่าวมาผลิตเครื่องถ้วยทำมือ ให้มีลักษณะใกล้เคียงกับภาชนะของเตาเวียงบัวเดิม และผลิตผลิตภัณฑ์ภาชนะเคลือบออกจำหน่าย เพื่อนำมาเป็นทุนในการทดลองทำภาชนะให้ออกมาเหมือนกับของเดิมมากที่สุด
ถั่วลายเสือ
สายกินมี น้ำพริกตาแดงแมงดา จากอำเภอสะเมิง, ถั่วลายเสือ แหล่งโปรตีนทางเลือกจากพืช เหมาะกับคนที่อยากลดการกินโปรตีนจากเนื้อสัตว์ แถมยังเป็นพืชใช้น้ำน้อย ประหยัดน้ำ ช่วยลดโลกร้อน ถั่วเม็ดใหญ่ เคี้ยวมัน มีให้เลือกทั้งแบบต้มและคั่วจากแม่ฮ่องสอน
คุณทองโบราณ บนผ้าทอพื้นเมืองอุดรธานี
สำนักงานศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น มีสินค้าผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมมาร่วมจำหน่าย อาทิ ผ้าทอพื้นเมืองย้อมครามทำเป็นผ้าพันคอและผ้าคลุมไหล่ ปักประดับเป็นรูป คุณทองโบราณ มาสคอตของจังหวัดอุดรธานี ต้นกำเนิดมาจากโครงกระดูกสุนัขเก่าแก่ที่สุดขุดค้นพบในบ้านเชียง อายุประมาณ 2,700 ปี ได้รับการพระราชทานนามโดยรัชกาลที่ 9 ทางจังหวัดอุดรธานีจึงจัดประกวดการออกแบบเป็นมาสคอตประจำจังหวัด เมื่อปีพ.ศ.2559
นอกจากนี้ยังมี เซรามิก จากกลุ่มโฮมสเตย์บ้านเชียง เครื่องประดับ ที่ร้อยจากลูกปัดสะท้อนวัฒนธรรมบ้านเชียง
เครื่องดับจากวัฒนธรรมบ้านเชียง
ผ้าย้อมคราม ทอลายเลียนแบบศิลปะพบในถ้ำอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี
ลวดลายสาเกต
สำนักงานศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี มีสินค้าท้องถิ่นในความดูแลน่าซื้อหลายอย่าง อาทิ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด, ผ้ากาบบัว ผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดอุบลราชธานี
ผ้าสาเกต ผ้าทอมัดหมี่โบราณประจำจังหวัดร้อยเอ็ด สีชมพูสดใส สะท้อนสีดอกไม้ประจำจังหวัด คือดอกอินทนิล ปกติสีม่วงอมชมพู ‘ลวดลายสาเกต’ ตั้งตามชื่อเมืองเก่าของร้อยเอ็ด เป็นการจัดองค์ประกอบลายขึ้นมาใหม่จากลวดลายโบราณที่พบในผ้าทอร้อยเอ็ด
งานกิจกรรม 112 ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร จัด ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ 27-29 มีนาคม 2566