'นพ.กิติศักดิ์' ผอ.รพร.ปัว แพทย์ดีเด่นในชนบทปี 61
“คนกรุงเทพฯ อาจขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลมากกว่าคนในพื้นที่ชนบท เพราะการเดินทางของคนในต่างจังหวัด น่าจะเข้าถึงการรับบริการที่รพ.ในช่วงเวลาที่เร็วกว่าและค่าใช้จ่ายจำนวนน้อยกว่า” นพ.กิติศักดิ์ เกษตรสินสมบัติ
“นพ.กิติศักดิ์ เกษตรสินสมบัติ” ผอ.รพร.ปัว จ.น่าน คว้ารางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทปี 61 จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯคนที่45 เผยจากลูกจีนโพ้นทะเลพ่อสอนให้สำนึกคุณแผ่นดิน ยึดหลักทรงงานในหลวงร.9 มุ่งมั่นพัฒนาคนพื้นที่นานเกือบ 30 ปี ดูแลทั้งคนไทย-ลาว ระบุหัวใจหลักของการเป็นแพทย์ต้องเห็นแก่มนุษยธรรมมากกว่าเงิน เดินต่องานสร้างสำนึกชุมชน“รพ.ของเรา” ห่วงปัญหาระบบสาธารณสุข จำเป็นต้องลดช่องว่างความต้องการ-ความจำเป็น
เมื่อวันที่ 6 มี.ค.62 ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธานงานแถลงข่าว “ประกาศผลและมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2561”ว่า สำหรับแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2561 คณะกรรมการฯ ได้คัดเลือกให้ นพ.กิติศักดิ์ เกษตรสินสมบัติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช(รพร.)ปัว อ.ปัว จ.น่าน เป็นผู้ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ประจำปี 2561 โดยเป็นแพทย์ที่มีความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นงานทางด้านบริหาร รักษาพยาบาล และการพัฒนา จากผลงานของท่านที่มีรางวัลเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าท่านเป็นผู้บริหารองค์กร เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง อุทิศตนปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ห่างไกล มีความมุ่งมั่นในกาพัฒนาองค์กรและชุมชนอย่างต่อเนื่อง ปลูกฝังวัฒนธรรมการพัฒนาแก่บุคลากร และประชาชนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
อ.นพ.สมุทร จงวิศาล ประธานคณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2561 กล่าวว่า คณะกรรมการฯ มีการพิจารณาคุณสมบัติหลายประการ ประกอบด้วย การให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข การบริหาร มนุษยสัมพันธ์ ความเสียสละ ความใฝ่รู้ในวิชาการ ความเป็นผู้นำที่ดี และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม รวมทั้งระยะเวลาในการปฏิบัติงานทางการแพทย์ในชนบทติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี และไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นศิษย์เก่าแพทย์ศิริราช ในที่สุดได้คัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบท คนที่ 45 ที่ใช้ชีวิตรับราชการเป็นแพทย์อยู่ในจ.น่านมาตั้งแต่จบการศึกษามาจนถึงปัจจุบันเกือบ 30 ปี มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง เป็นผู้นำกระบวนการมาตรฐานการบริการสุขภาพระดับชาติมายังพื้นที่ห่างไกล ภายใต้ข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของงบประมาณ ที่ส่งผลต่อการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนไม่เฉพาะแต่ผู้ป่วยชาวไทยเท่านั้น ยังมีเพื่อนบ้านชาวลาวในพื้นที่ที่ติด จ.น่าน อยู่ในโซนที่ยากจนที่สุดของลาว เข้ามารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องให้ความช่วยเหลือรักษาเหมือนประชาชนชาวไทยอย่างเท่าเทียมกันด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม
พ่อสอนให้สำนึกคุณแผ่นดิน
นพ.กิติศักดิ์ เกษตรสินสมบัติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช(รพร.)ปัว อ.ปัว จ.น่าน กล่าวว่า การได้รับรางวัลครั้งนี้ไม่ใช้สิ่งที่ประสบความสำเร็จในชีวิต แต่เป็นเกียรติของชีวิตและทีมงานซึ่งตนเป็นเพียงตัวแทนมารับรางวัลในฐานะนำทีมเท่านั้น รางวัลนี้เป็นกำลังใจและสร้างพลังใจให้พวกเราในการทุ่มเททำงานเพื่อคนปัวและคนน่านต่อไป เพราะในพื้นที่ยังมีปัญหาที่ต้องการการแก้ไขอีกมาก การทำงานในพื้นที่ชนบทมีงานอีกมากและตั้งใจจะทำงานที่น่านจนเกษียณอายุราชการในอีก 6 ปีข้างหน้า และแม้เกษียณก็จะทำงานต่อไปเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนน่าน และเชื่อมั่นทีมงานทุกคนมีความมุ่งมั่นให้บริการประชาชนด้วยความปราถนาดีต่อผู้ป่วยเต็มกำลังความสามารถ
นพ.กิติศักดิ์ เล่าว่า พื้นเพเป็นคนอ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังสำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.)เมื่อปี 2533 ตัดสินใจเลือกสมัครเข้าทำงานที่รพ.ในจ.น่าน ซึ่งอดีตยังนับว่าเป็นพื้นที่ทุรกันดารมาก โดยก่อนที่จะเดินทางไปทำงานได้พูดคุยกับเตี่ยที่เป็นคนจีนโพ้นทะเลที่อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ท่านสอนว่าให้รักในหลวงมากๆ ทำงานที่ไหนก็ได้ในประเทศไทย ถือเป็นการสำนึกและตอบแทนคุณแผ่นดินทั้งสิ้น จึงน้อมนำหลักในการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มาใช้ในการทำงานและดำเนินชีวิตเสมอมา
ตลอดการทำงานในพื้นที่มาเป็นเวลาถึง 29 ปี นพ.กิติศักดิ์ กล่าวว่า ได้รับโอกาสในชีวิตหลายอย่าง โดยเฉพาะการเรียนรู้จากคนในจ.น่านมากมาย อาทิ เรียนรู้ว่าการทำงานกับชุมชนเวลาที่เหมาะสมคือ “เวลาของชาวบ้าน ไม่ใช่เวลาของเรา” ต้องไปในช่วงเวลาที่ชาวบ้านว่างจากงานต่างๆ โอกาสจากปูชนียบุคลหลายท่านในจ.น่านที่คอยให้คำแนะนำชี้แนะ และโอกาสจากทีมงานในความร่วมไม่ร่วมมือในการดูแลและบริการประชาชน ซึ่งอ.ปัวจะอยู่ใกล้กับแขวงไชยบุรีของสปป.ลาว จึงมีประชาชนชาวลาวข้ามฝั่งมารับบริการอยู่เสมอ รพร.ปัวจึงต้องให้บริการดูแลรักษาทั้งคนไทยและคนลาวด้วย แม้บางครั้งจะเก็บค่ารักษาจากชาวลาวได้เพียง 15 % หรือไม่ได้เลย ก็จะต้องรักษาเพราะหัวใจของการเป็นแพทย์ที่สำคัญต้องเห็นแก่มนุษยธรรมมากกว่าเงิน แม้ว่ารพร.ปัวจะได้รับการจัดสรรงบประมาณจากโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองแบบที่เรียกว่า “ตั้งต้นก็ติดลบแล้ว”
พลิกวิกฤติการเงินรพ.
นพ.กิติศักดิ์ กล่าวอีกว่า รพร.ปัวเป็นรพ.ขนาด 125 เตียง เป็นแม่ข่ายรับการส่งต่อจากรพ.อื่นเขตจ.น่านตอนเหนือ มีประชากรในความรับผิดชอบ 45,000 คน การได้รับจัดสรรงบประมาณที่อิงตามจำนวนประชากร สถานะการได้รับงบฯจึงอยู่ในแบบตั้งต้นก็ติดลบแล้ว ทำให้สถานะทางการเงินของรพ.อยู่ในวิกฤติระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับแย่ที่สุดหลายปี กระทั่ง มีการหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรพ.ว่าจะเพิ่มรายได้หรือลดรายจ่ายอย่างไรได้บ้าง โดยให้แต่ละส่วนงานไปคิดว่าอยากจะช่วยรพ.อย่างไร
แนวทางที่เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ร่วมคิดแทนการสั่งให้ทำนั้น จะเกิดการหวงแหนความคิดและยึดถือที่จะทำให้ได้จริง ส่งผลให้เกิดประสิทธิผลและสามารถคุมรายจ่ายได้จริง ปัจจุบันสถานะการเงินของรพ.อยู่ในระดับ2-4 ซึ่งจะให้เป็นระดับ 0 คงยาเพราะเงินไม่พอมาตั้งแต่ต้น แต่สามารถมีเงินดูแลรักษาประชาชนและจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรทุกเดือน
สิ่งที่จะดำเนินการต่อไป นพ.กิติศักดิ์ บอกว่า ร่วมกับทีมงานกำหนดเป้าหมายอย่างหนึ่งการทำงานที่สำคัญ คือ จะต้องสร้างความรู้สึก “รพ.ของเรา”ให้เกิดขึ้นในใจของชาวบ้านในชุมชนให้ได้ เนื่องจากหากชาวบ้านรู้สึกเช่นนี้แล้ว จะทำให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลโรงพยาบาลด้วย เพื่อให้บุคลากรดูแลพวกด้วยเป็นการเกื้อกูลกัน โดยพยายามบอกชาวบ้านเสมอว่าเจ้าหน้าที่มาอยู่ที่รพ.ไม่นานก็ต้องย้าย แต่ชาวบ้านจะอยู่กับรพ.ตลอด
ระบบสาธารณสุขต้องลดช่องว่าง
นพ.กิติศักดิ์ สะท้อนมุมมองต่อระบบสาธารณสุขในปัจจุบันว่า อยู่ที่ช่องว่างความต่างระหว่างความต้องการและความจำเป็น ซึ่งยังมีความห่างเกิดขึ้นอย่างมาก จึงต้องลดช่องว่างให้ได้มากที่สุด รวมถึง เรื่องการสื่อสารสาธารณะให้ประชาชนเข้าใจถึงความจำเป็นในการที่จะเข้ารับบริการสาธารณสุข เพราะปัจจุบันคนจะมีความต้องการเข้ารับบริการมากขึ้น ขณะที่ความจำเป็นในการที่จะต้องเข้ารับบริการขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะฉะนั้นจะต้องสื่อสารทำความเข้าใจเกี่ยวกับความจำเป็นของประชาชนในการปฏิบัติตัวดูแลตนเองโดยเฉพาะการส่งเสริมป้องกันโรค
“ปัจจุบันผมคิดว่าคนในเมืองโดยเฉพาะกรุงเทพฯ อาจขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลมากกว่าคนในพื้นที่ชนบท เพราะกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน การเดินทางของคนในต่างจังหวัดน่าจะเข้าถึงการรับบริการที่รพ.ในช่วงเวลาที่เร็วกว่าและค่าใช้จ่ายจำนวนน้อยกว่า จากการที่กทม.มีปัญหาสภาพจราจรที่แออัดและค่าใช้จ่ายการรักษาที่แพงกว่า” นพ.กิติศักดิ์กล่าว
อนึ่ง รางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2516 เพื่อเชิดชูเกียรติแพทย์ผู้อุทิศตนปฏิบัติหน้าที่ในชนบท และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาบริการทางการแพทย์และงานส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่ให้เจริญก้าวหน้า เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนร่วมวิชาชีพและนักศึกษาแพทย์ รางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประกอบด้วย โล่เกียรติยศและเงินรางวัลจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จำนวน 200,000 บาท บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จำนวน 100,000 บาท และบริษัท เทอรูโม (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 20,000 บาท