“วุฒิสภา” จัดเวทีวิเคราะห์ภัยแล้ง “อธิบดี กสก.” เผยข้อมูล อาจงดปลูกข้าวหอมมะลิ เหตุฝนหยุดตก ช่วงข้าวออกดอก เร่งหามาตรการช่วยเหลือ ด้าน “ศูนย์ป้องกันวิกฤตน้ำ” หมดทางช่วย ชี้ หน่วยงานใช้งบฉุกเฉินแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
คณะกรรมการวิชาการ วุฒิสภา จัดสัมมนา เรื่อง ปัญหาภัยแล้ง มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรโดยมีตัวแทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นำเสนอประเด็น และให้ ส.ว. ที่เข้าร่วมเสนอความเห็นเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติงาน โดยมีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง และสมาชิกวุฒิสภา อาทิ พล.อ.ดนัย มีชูเวท , นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์, พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ , นายชลิต แก้วจินดา , นายณรงค์ สหเมธาพัฒน์ , นายจเด็จ อินสว่าง เข้าร่วม
โดย นายมงคล หลักเมือง ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันวิกฤตน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวยอมรับถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นว่า เป็นเพราะฝนตกน้อย และมีภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ เหลือเพียง 1.9 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่ความต้องการใช้น้ำมีทั้งสิ้น 4.7 หมื่นล้านลบ.ม. อย่างไรก็ตามสถานการณ์ล่าสุดตอบไม่ได้ว่ามีปริมาณน้ำเหลือเท่าใดแม้จะมีน้ำอยู่ในเขื่อน แต่ความต้องการใช้น้ำยังมีในพื้นที่นอกเขื่อนจำนวนมาก ทั้งนี้ที่ผ่านมาหน่วยงานราชการสร้างแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็กให้กับพื้นที่ต่างๆ กว่า 1 แสนแห่ง แต่หลังจากสร้างแล้วเสร็จนโยบายเปลี่ยน คือ เมื่อสร้างแหล่งเก็บน้ำแล้ว ประชาชนจะได้รับประโยชน์อะไร ดังนั้นกระบวนการต้องคำนึงถึง การมีแหล่งน้ำ การกระจายน้ำ ซึ่งการดำเนินหลังจากนี้ศูนย์ป้องกันวิกฤตน้ำ จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลและเสนอความเห็นเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับท้องถิ่นนำไปปฏิบัติ ซึ่งหากพบพื้นที่วิกฤตจะมีงบประมาณของรัฐส่วนงบฉุกเฉินสามารถใช้จ่ายเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะให้ประชาชนหน้าได้ เบื้องต้นพบว่ามีพื้นที่ 21 จังหวัด รวม 83 อำเภอมีภาวะเสี่ยงต่อภัยแล้ง
ขณะที่ นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) กล่าวว่าจากการทำข้อมูลพบว่าสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรง เพราะฤดูแล้งที่ผ่านมา ปริมาณน้ำค่อนข้างดี เกษตรกรเร่งทำการเกษตรเกินกว่าแผน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องส่งน้ำสำรองให้เกษตรกรใช้ นอกจากนั้นช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ถึง เดือนกรกฎาคม 2562 พบฝนทิ้งช่วง แต่ปริมาณน้ำที่ต้องใช้ตามความจำเป็นยังมีอยู่ ทำให้น้ำมีปริมาณไม่เพียงพอ ซึ่งรวมถึงน้ำประปา หรือน้ำเพื่ออุปโภค บริโภคด้วย ทั้งนี้สนทช.มีข้อเสนอต่อการแก้ปัญหาในอนาคต คือ นำมาตรการกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ เพื่อให้บูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน เช่น การสร้างแหล่งน้ำ ระบบส่งน้ำ ระบบระบายน้ำ ที่ต้องวางแผนไม่ให้สิ่งกีดขวางทางน้ำ เช่น ถนน, ทางรถไฟ, สะพาน
ส่วน นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวตอหนึ่งในหัวข้อการทำความเข้าใจกับเกษตรกรเพื่อวางแผนระบบการผลิตพืชให้เหมาะสมกับสภาวะทางด้านการเกษตร ตอนหนึ่ง ว่า สำหรับการประเมินผลกระทบของเกษตรกรแต่ละพื้นที่ พบว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีพื้นที่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ 19 ล้านไร่เนื่องจากฝนไม่ตก แต่ล่าสุดพบว่ามีฝนตกในพื้นที่ดังกล่าว คาดว่าจะมีพื้นที่ที่ยังได้รับผลกระทบ เหลือ 1 ล้านไร่เท่านั้น ทั้งนี้จากสภาพที่เกิดขึ้น พบว่ามีพื้นที่เกษตรที่เสียหายอย่างสิ้นเชิง ประมาณ 8 แสนไร่ โดยการช่วยเหลือนั้นต้องทำให้รวดเร็ว โดยทางจังหวัดต้องส่งเรื่องมายังกรม เพื่อพิจารณาจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือ ภายใน 15 วัน จากเดิมตามกฎหมายกำหนดให้ภายใน 30 วัน
“ตอนนี้การช่วยเหลือเกษตรกร กรมฯ เตรียมเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว อาทิ การเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อให้เกษตรกรเพาะปลูกรอบสอง เป็นต้น อย่างไรก็ตามมีสิ่งที่กังวล คือ ช่วงของการปลูกข้าวหอมมะลิ ที่จะปลูกช่วงวันแม่ หรือ เดือนสิงหาคม และเก็บเกี่ยวช่วงวันพ่อ หรือ เดือนธันวาคม แต่ข้อมูลที่หน่วยงานรายงานพบว่า ช่วงเดือนตุลาคมจะสิ้นสุดฤดูฝน ซึ่งช่วงเดือนดังกล่าวข้าวอยู่ระหว่างออกดอก ดังนั้นต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไร หากเกษตรกรปลูกข้าวไม่ได้ ซึ่งหน่วยงานต้องประเมินสถานการณ์เรื่องน้ำ และ หามาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขต่อไป” นายสำราญ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะของ ส.ว. มีสาระสำคัญ อาทิ การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทุกหน่วยงานบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ, การให้ข้อมูลด้านพื้นที่ ภาวะภัยแล้ง ต้องเป็นข้อมูลที่ตรงกันกับทุกหน่วยงานก่อนเผยแพร่ประชาชน, ปรับวิธีการสำรวจและรายงานผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ปรับระเบียบการช่วยเหลือเกษตรกรตามข้อเท็จจริง เช่น ทุเรียนที่มูลค่าที่แท้จริงต้นละ 1 แสนบาท แต่ระเบียบจ่ายชดเชยให้ หลักพันบาท ดังนั้นต้องพิจารณารายละเอียดที่เหมาะสม เป็นต้น
ทั้งนี้ พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวตอนหนึ่งว่าสมัยที่ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การแก้ปัญหาสามารถทุบโต๊ะสั่งการได้ แต่ปัจจุบันมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ตนเป็นห่วงว่าจะขาดการบูรณาการงานร่วมกัน ซึ่งตนทำได้แค่เป็นห่วง เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร เนื่องจากปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นแค่ ส.ว.