ฉากชีวิต “เรืองไกร” นักร้องปลา 2 น้ำ จากมือสอบหุ้น “ทักษิณ” สู่หุ้น“พิธา”
ฉากชีวิต “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” 20 ปีบนถนนการเมือง จากมือตรวจสอบปมซุกหุ้น “ทักษิณ ชินวัตร” จนเกิดวาทกรรมตำนาน “บกพร่องโดยสุจริต” ก่อนทำช็อคไปซบ “เพื่อไทย” นาน 10 ปี ย้ายออกมาร่วมชายคา พปชร.กลับไปตรวจสอบ “ค่ายสีแดง” อีกรอบ ก่อนลุยร้องหุ้นสื่อ “พิธา”
ใครจะไปเชื่อว่าในปี 2566 ชื่อของ “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” จะกลับมารุ่งโรจน์อีกครั้ง
หลังจากก่อนหน้านี้เจ้าตัวค่อนข้างตกอับทางการเมือง ในช่วงที่ย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง 2562 กระทั่งช่วงเวลา 4 ปีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “เรืองไกร” ยื่นเรื่องร้องเรียนกล่าวหาบุคคลในรัฐบาล “ลุงตู่” หลายครั้งกับองค์กรอิสระ แต่เป็นกระแสได้ประปราย เรื่องก็เงียบหายไปกับสายลม
“เรืองไกร” มีบทบาทในแวดวงการเมืองมายาวนานกว่า 20 ปี เคยเป็น ส.ว. และมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการตรวจสอบรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร โดยเป็นหนึ่งในผู้เปิดโปงและยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบกรณี “ซุกหุ้น” ของ “ทักษิณ” จนทำให้ “นายใหญ่ดูไบ” ต้องหล่นวาทกรรมในตำนานอย่าง “บกพร่องโดยสุจริต” และศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยด้วยมติ “เฉียดฉิว” 8 ต่อ 7 เสียง เห็นว่า นายทักษิณ มิได้ซุกหุ้น รอดพ้นได้จัดตั้งรัฐบาล และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อปี 2544 ได้สำเร็จ
ต่อมาเมื่อปี 2551 พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง นายสมัคร สุนทรเวช ก้าวเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีท่ามกลางข้อครหาเป็น “นอมินี” ของนายทักษิณ ที่ถูกรัฐประหาร และหลบหนีคดีไปต่างประเทศ นายเรืองไกร แกนนำกลุ่ม “40 ส.ว.” ขณะนั้น คือคนยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยสถานะของนายสมัคร กรณีทำรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยงหกโมงเช้า” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี (ขณะนั้น) โดยอ้างว่า นายกรัฐมนตรี ห้ามมีตำแหน่งหรือเป็นลูกจ้างของเอกชนรายใด จนสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า นายสมัคร เป็นลูกจ้างของเอกชน ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไป
ทว่าบทบาทของนายเรืองไกรหลังจากนั้น มีการโยกย้าย “สลับฝั่ง” มาเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย แม้จะมีการยื่นเรื่องร้องเรียนตรวจสอบ “ฝั่งตรงข้าม” อยู่บ้างประปราย แต่ก็ “ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน” สักเท่าไหร่นัก
โดยในช่วงก่อนการเลือกตั้ง เมื่อปี 2562 นายเรืองไกรนำข้อมูลจากสื่อกรณีการจัดโต๊ะจีนของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) วงเงินกว่า 532 ล้านบาท และข้อครหาว่ามี “ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ไปร่วมงานด้วยหรือไม่ มาร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบ ทว่า กกต. มีมติเห็นว่า การจัดงานโต๊ะจีนระดมทุนดังกล่าวทำโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่พบว่ามีข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไปร่วมหรือเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
กระทั่งเมื่อปี 2564 นายเรืองไกร “พลิกขั้ว” อีกครั้ง ลาออกจากพรรคเพื่อไทย มาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ทำหน้าที่ตรวจสอบ “พรรคเพื่อไทย” แทน แต่ก็ยังไม่มีผลงานอะไรที่เป็นรูปธรรมมากนัก
ต่อมา ม.ค. 2565 “เรืองไกร” ลาออกจากสมาชิก พปชร. และกลับมาสมัครสมาชิกใหม่อีกครั้งเมื่อ ธ.ค. 2565 โดยในการเลือกตั้ง 2566 “เรืองไกร” ถูกส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 22 จากทั้งหมด 85 ลำดับ ถือว่าลำดับค่อนข้างสูง
โดยนับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา “เรืองไกร” ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน ยื่นเรื่องร้องเรียนให้องค์กรอิสระ ทั้ง กกต. และ ป.ป.ช. ตรวจสอบบุคคล และสมาชิกจากพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม เช่น พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล เป็นหลักหลายเรื่อง ทั้งประเด็นหยุมหยิม ลุกลามไปถึงประเด็นใหญ่ โทษสูงสุดถึงขั้นยุบพรรค
ประเด็นที่สร้างความฮือฮาที่สุดตอนนี้คือ การขุดกรณีถือหุ้นสื่อ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯของพรรค จำนวน 42,000 หุ้น ส่อเข้าข่ายขาดคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) โดยหากผิดจริงอาจมีผลย้อนหลังไปถึงปี 2562 เลยด้วยซ้ำ
ทั้งหมดคือฉากชีวิตของ “เรืองไกร” หนึ่งในนักร้อง “ปลา 2 น้ำ” เคยทั้งตรวจสอบ “ทักษิณ” และเคยร่วมองคาพยพ “เพื่อไทย” มานานกว่า 10 ปี ก่อนลาออกมาร่วมชายคา พปชร.กลับไปตรวจสอบ “ค่ายสีแดง” อีกครั้ง
ศึกเลือกตั้งปี 2566 “เรืองไกร” จะประสบผลสำเร็จได้เป็น ส.ส.สักครั้งในชีวิตหรือไม่ ต้องติดตามหลังเลือกตั้ง 14 พ.ค.นี้