"อาฟเตอร์เอฟเฟกต์" บีบประยุทธ์ สัญญาณ "ล้มกระดาน-ยุบสภา"
กลเกมการเมืองที่มีอยู่เวลานี้ ไม่ต่างอะไรกับ "อาฟเตอร์เอฟเฟกต์" และอาจเป็นสัญญาณให้ พล.อ.ประยุทธ์ กำลังหาวิธีลงจากหลังเสื้อแบบเจ็บน้อยที่สุด
“อาฟเตอร์เอฟเฟกต์” หลังพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) มีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา อดีตเลขาธิการพรรครวมถึง ส.ส.รวม 21 คน ออกจากการเป็นสมาชิกพรรค
สัญญาณการเมืองถูกจับตาไปที่เสถียรภาพรัฐบาล ที่เวลานี้อยู่ในระดับปริ่มน้ำ ซ้ำยังลามไปถึงเก้าอี้ “สร.1” แห่งตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม
ชะตากรรมของเรือเหล็กประยุทธ์วันนี้ ไม่ต่างอะไรกัับ “เรือแตก” ที่รอวันอัปปางลงในไม่ช้า ขณะที่ศึกใหญ่ที่รออยู่เบื้องหน้า ถูกมองว่าไม่ต่างอะไรกับ “ด่านวัดใจ” และเป็นเสมือนตัวเร่งเร้าให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเร่ง “ปิดจ๊อบ”
ทั้งการ “อภิปรายทั่วไป” แบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ของฝ่ายค้าน ซึ่งฝ่ายค้านเตรียมเปิดฉากในอีกราว 2 สัปดาห์ข้างหน้า
ประเด็นที่ฝ่ายค้านเตรียมลากรัฐบาลขึ้นชำแหละแผลใหญ่กลางสภา หนีไม่พ้น 4 ปมร้อน ทั้ง 1.วิกฤติเศรษฐกิจของแพงค่าแรงถูก 2.วิกฤติโรคระบาดทั้งโควิดและ ASF 3.ปัญหาการเมืองปฏิรูปการเมืองล้มเหลว การบริหารราชการแผ่นดิน การกระจายอำนาจและความไม่เป็นธรรมและ 4.ประเด็นอื่นๆ ทั้งปัญหาเหมืองทองอัครา ที่อนุญาโตตุลาการกำลังจะจะชี้ขาดในคดีข้อพิพาทในเร็วๆนี้ รวมถึงปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาชาวประมง เป็นต้น
อย่างที่รู้กันว่า เกมของฝ่ายค้านรอบนี้ ไม่ใช่เพียงแค่จบศึกอภิปรายทั่วไปแล้วแยกย้ายเท่านั้น หากแต่ยังต่อเนื่องไปถึงการ “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” ซึ่งจะมีขึ้นในสมัยประชุมหน้า ในช่วงเดือน พ.ค.
ยิ่งในสภาวะที่รัฐบาลประยุทธ์กำลังเผชิญวิกฤติเสียงปริ่มน้ำ จากปัญหาการขับ “21 ส.ส.” ด้วยแล้ว ทำให้ยามนี้รัฐบาลมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งมาแค่ 4 เสียง
เช่นนี้ โอกาสในการ“เพลี่ยงพล้ำ” จากการลงมติไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงการผ่านกฎหมายสำคัญ เช่น ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงกลางปีนี้ สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการ “ล้มกระดาน”สูง
ยังไม่นับรวมประเด็นสั่นคลอนพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ทั้งศึกเลือกตั้งซ่อมที่เพิ่งผ่านมา หรือประเด็นการแก้ปัญหาสินค้าราคาแพง ซึ่งกำลังเป็นแผลใหญ่รัฐบาลเวลานี้
ล่าสุดมีการเปิดศึกทวง “สต๊อกหมูปริศนา” 14 ล้านกิโลกรัม ระหว่าง "ประภัตร โพธสุธน" รมช.เกษตรและรัฐมนตรีในพรรคร่วมรัฐบาลกลาง ครม.
ฉะนั้น แม้ยามนี้ฝั่งรัฐบาลจะย้ำนักย้ำหนาว่า รัฐบาลไม่สั่นคลอน โดยเฉพาะตัว พล.อ.ประยุทธ์ ที่ล่าสุดย้ำกลาง ครม. "การทำงานของรัฐบาลไม่มีคำว่า พรรคร่วม มีแต่พรรคร่วมรัฐบาลเพียงหนึ่งเดียว"
แต่ภาพที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะเหตุ "ประชุมสภาล่ม" ทุกสัปดาห์ ในช่วงที่ผ่านมา
ปฏิเสธไม่ได้ว่า กลเกมการเมืองที่มีอยู่เวลานี้ จึงไม่ต่างอะไรกับ "อาฟเตอร์เอฟเฟกต์" ที่เป็นสัญญาณบีบรัดให้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีทางเลือก โดยเฉพาะ ส.ส.ก๊วนผู้กองธรรมนัส ที่เวลานี้กลายเป็นหอกข้างแคร่ พร้อมจะทิ่มแทงได้ทุกเมื่อ
ต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นแรงบีบให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องหาวิธีลงจากหลังเสือแบบเจ็บน้อยที่สุด ไม่เว้นแม้แต่การ “ยุบสภา”