พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นำ ‘แกร็บ’ ท้าทาย สึนามิดิจิทัล
พิสูจน์ฝีไม้ลายมือมาแล้วกับการพลิกฟื้นธุรกิจครอบครัวที่ไม่ใช่แค่เริ่มจากศูนย์ ทว่าติดลบหลักร้อยล้านบาท วันนี้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ก้าวสู่ความท้าทายครั้งใหม่
กับตำแหน่ง กรรมการบริหาร บริษัท แกร็บ ประเทศไทย หนึ่งในหัวเรือใหญ่ที่จะร่วมผลักดันให้ “แกร็บ” เติบโตอย่างแข็งแกร่งในตลาดไทย
พิธา เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ” ฟังว่า เริ่มทำงานที่แกร็บเมื่อเดือนส.ค. 2560 หน้าที่หลักคือดูแลภาพรวมธุรกิจ พัฒนากลยุทธ์ และสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
สำหรับสไตล์การทำงาน เขาบอกว่า ไม่ขอเป็นนักรบในห้องแอร์ มองว่าการนั่งทำงานแค่หน้าคอมพิวเตอร์อย่างเดียวนั้นไม่ตอบโจทย์ ต้องออกไปให้เห็นภาพ ลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจผู้ขับ สภาพปัญหา รวมไปถึงความเป็นไปของตลาดให้ได้มากที่สุด
ด้านความท้าทายที่สำคัญคือ การทำงานท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ธุรกิจจะอยู่รอดได้ต้องมีความใหม่ ชัด โดน มีความเข้าใจ สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ตลอดเวลา
แกร็บ ไม่ได้เป็นเพียงบริษัทผู้ให้บริการเทคโนโลยีการขนส่ง แต่เป็นอินเทอร์เน็ตคอมพานี โดยบริษัทแม่มีเป้าหมายที่จะเป็น “คอนซูเมอร์ ออนไลน์ทูออฟไลน์ (โอทูโอ) แพลตฟอร์ม” อันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะนี้แม้ภาพในประเทศไทยจะยังไม่ชัดเจนตามแนวทางดังกล่าว แต่ภายในปีนี้จะทำให้ดีมากขึ้นตามลำดับ
บุกเบิกฟินเทค
พิธากล่าวว่า ทิศทางธุรกิจปี 2561 มีแผนบุกเบิกด้านฟินเทค สนับสนุนการพัฒนาประเทศสู่สังคมไร้เงินสด รองรับการจ่ายเงินด้วยพร้อมเพย์ รวมถึงคิวอาร์โค้ดต่างๆ
พร้อมกันนี้ สร้างความแข็งแกร่งให้ฐานธุรกิจด้วยการทำงานร่วมกับพันธมิตรใหม่ๆ เสริมบริการใหม่ๆ ขยายไปยังเมืองใหม่ๆ ที่เห็นว่ามีโอกาส ขณะเดียวกันให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้สุงอายุ คนตาบอด ผู้ป่วยติดเตียง ทุกวันนี้คนกรุงเทพฯ ต่อให้รถติดแต่ก็ไปไหนมาไหนได้ทุกที่ แต่อีกหลายๆ คนยังไม่มีโอกาส ช่องว่างยังมีอยู่อีกมาก
“เรามุ่งประสานสัมพันธ์และทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย เพื่อที่ทุกคนจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากแพลตฟอร์มการเดินทางและชำระเงินออนไลน์ของเรา”
ปัจจุบัน พันธมิตรของแกร็บมีทั้งภาคการเงินการธนาคาร ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ อสังหาริมทรัพย์ ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชนที่ไม่ใช่ไอที การศึกษา มีส่วนร่วมในโครงการสมาร์ทซิตี้ การท่องเที่ยว และการสนับสนุนสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์(โอท็อป)
อย่างไรก็ดี ความสำเร็จที่หวังทำให้ได้ในระยะสั้นในปีนี้ เตรียมเปิดให้บริการ “แกร็บ เพย์” อย่างเป็นรูปธรรม มากกว่านั้นสร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่ๆ ขยายฐานตลาดสู่หัวเมืองใหม่ๆ มีส่วนร่วมกับนโยบายดิจิทัลอีโคโนมี นำระบบวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้าช่วยสนับสนุนและพัฒนาการขนส่ง รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนโดยบีโอไอ
ฝ่าคลื่นดิจิทัล
ผู้บริหารแกร็บเผยว่า แนวทางการขยายงานเน้นพัฒนาแพลตฟอร์มให้ตอบโจทย์ พร้อมๆ ไปกับส่งคนลงพื้นที่ตามหัวเมือง เพิ่มคนขับ พัฒนาคอลล์เซ็นเตอร์ โดยแกร็บมีความพร้อมที่จะลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความสะดวก ปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่ม ด้านกลยุทธ์ที่สำคัญคือการสื่อสารกับตลาด
“เราต้องการเข้ามาทำธุรกิจ พัฒนาบริการการเดินทางแบบไร้รอยต่อ และเติบโตแบบยั่งยืน ยินดีกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง มองว่าส่งผลดีทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในประเทศไทย”
ปัจจุบัน ธุรกิจขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เป็นยุคที่เป็นบริบทใหม่ "นิว นอร์มอล" ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “สึนามิ ดิจิทัล” ด้านการขนส่งสาธารณะยังมีข้อจำกัดที่ต้องการการเข้าไปเติมเต็ม ทั้งส่วนที่เป็นไมล์แรกและไมล์สุดท้าย 4 ปีที่แกร็บอยู่ในไทยทำให้เข้าใจเป็นอย่างดีว่าตลาดต้องการอะไร และจะนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยได้อย่างไรบ้าง
ข้อมูลโดยกูเกิลและเทมาเส็กระบุว่า โอกาสทางการตลาดบริการเรียกรถโดยสารผ่านโมบายแอพพลิเคชั่นมีอยู่มหาศาล เมื่อถึงปี 2568 ตลาดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีมูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนในไทย 2 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7 พันล้านบาท เฉลี่ยเติบโตปีละ 17%
ปัจจุบัน แกร็บมีผู้ใช้งานทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 72 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนเกิน 10% ของประชากรในภูมิภาคที่มี 650 ล้านคน ด้านจำนวนผู้ขับมีอยู่กว่า 2.1 ล้านคน ต่อวันให้บริการ 3.5 ล้านเที่ยว เติบโตต่อปี 360% เฉพาะในประเทศไทยมียอดการดาวน์โหลดมากกว่า 4 ล้านครั้ง สัดส่วนลูกค้าเป็นคนไทย 80% นักท่องเที่ยวต่างชาติ 20% ขณะนี้ตลาดไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย
แกร็บ เริ่มธุรกิจในไทยเมื่อปลายปี 2556 ให้บริการ 4 ประเภทได้แก่ แกร็บแท็กซี่ แกร็บคาร์ แกร็บไบค์ และ แกร็บเอ็กซ์เพรส ครอบคลุมหัวเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชมีมา อุดรธานี สงขลา หาดใหญ่ สมุย และสุราษฎร์ธานี ต่อปีจำนวนผู้ขับขี่ในไทยเติบโตเฉลี่ย 226%
สถิติระบุว่า เมื่อเทียบกับการขนส่งสาธารณะผู้โดยสารแกร็บในไทยสามารถประหยัดเวลาเดินทางเฉลี่ย 20% การที่มีทางเลือกหลากหลายทำให้ผู้ใช้งาน 1 ใน 3 ใช้บริการแกร็บมากกว่า 1 บริการ ขณะที่ผู้ขับแกร็บมีรายได้สูงกว่าค่าแรงเฉลี่ยรายชั่วโมง 19%
ปลดล็อกกฎหมาย
เขากล่าวถึงความคืบหน้าการผลักดันให้บริการของแกร็บไม่ขัดต่อกฎหมายไทยว่า ขณะนี้ทางรัฐบาลมอบหมายให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ทำการศึกษาถึงระบบ แนวทางการกำกับดูแล ความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ นับจากเดือนพ.ย. ที่มีโอกาสได้พบปะคณะทำงานทางทีดีอาร์ไอคาดหวังว่าจะมีแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจนออกมาใน 6 เดือน
ส่วนของแกร็บ พร้อมให้ความร่วมมือ ที่ผ่านมาทีมผู้บริหารจากสิงคโปร์ได้เข้าพบปะพูดคุยกับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีการประสานงานเพื่อสร้างความร่วมมือกับทั้งกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
“เท่าที่ได้เข้าไปมีส่วนพูดคุย รัฐบาล คณะทำงานเข้าใจถึงโลกที่เปลี่ยนไป แต่ทั้งนี้การทำงานแก้ปัญหาต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่มีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย สามารถตรวจสอบได้ มีการนำโมเดลจากต่างประเทศที่มีปัญหาไม่ต่างกันมาปรับใช้ เพื่อว่าทุกฝ่ายจะได้อยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา สำคัญที่สุดต้องยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก”
พิธาเชื่อว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อม การเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 จะประสบความสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับความร่วมมือร่วมใจกัน เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ส่วนการแข่งขันเป็นเรื่องปกติ หากไม่มีการแข่งขันนวัตกรรมจะเกิดได้ยาก