รัฐผนึกเอกชนดัน "5จี" พลิกเศรษฐกิจ

รัฐผนึกเอกชนดัน "5จี" พลิกเศรษฐกิจ

กสทช ยันเปิดประมูล 16 ก.พ. 63 ดีอีเอส เข็น ทีโอที กสท ร่วมชิง

กสทชพยากรณ์เงินเข้ารัฐ3.7หมื่นล.

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วันที่ 24 ธ.ค.2562 กสทช.จะนำผลการประชุมของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช.ด้านโทรคมนาคมที่ไม่นำคลื่น 700 เมกะเฮิรตช์ ประมูล 5จี เพราะยังติดปัญหาสัญญาณไมโครโฟนรบกวน เข้าที่ประชุมคณะกรรมการกสทช 

โดยหากไม่มีการเปลี่ยนแปลง กสทช จะนำคลื่นออกมาประมูลในวันที่ 16 ก.พ. 2563 จำนวน 3 คลื่น ได้แก่ คลื่น 1800 , 2600 เมกะเฮิรตช์ และ 26 กิกะเฮิรตช์ รวมทั้งสิ้น 53 ใบอนุญาต ราคาประมูลโดยรวม 134,201 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กสทช.คาดว่า จะสามารถนำเงินเข้ารัฐจากการประมูลได้ จำนวน 37,070 ล้านบาท เนื่องจากคาดว่าคลื่น 1800 เมกะเฮิรตช์ จะไม่มีผู้สนใจประมูล ส่วนคลื่นที่ได้รับความสนใจคือ คลื่น 2600 เมกะเฮิรตช์ ขนาด 190 เมกะเฮิรตช์ จำนวน 19 ใบอนุญาตๆ ละ 10 เมกะเฮิรตช์ ราคาเริ่มต้นใบอนุญาตละ 1,862 ล้านบาท 

ทั้งนี้ คาดว่า จะสามารถประมูลได้ทั้งหมด 19 ใบอนุญาต คิดเป็นมูลค่าการประมูล 35,378 ล้านบาท และ คลื่น 26 กิกะเฮิรตช์ ขนาด 2,700 เมกะเฮิรตช์ จำนวน 27 ใบอนุญาตๆ ละ 100 เมกะเฮิรตช์ ราคาเริ่มต้นใบอนุญาตละ 423 ล้านบาท คาดว่าจะประมูลได้จำนวน 4 ใบอนุญาต คิดเป็นมูลค่าการประมูล 1,692 ล้านบาท

157655443937

ดีอีเอสย้ำทีโอที-แคทต้องประมูล

ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การประมูล 5จี ครั้งนี้จะสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจทั้งบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมประมูลด้วย เพื่อให้เกิดบริการภาครัฐที่อยู่บนเครือข่าย5จี สร้างโอกาสให้ประชาชนในทุกระดับสามารถเข้าถึงบริการดีๆ เช่น การแพทย์ทางไกล 

"ที่มีคนเตือนว่าผมกำลังทำขัดรัฐธรรมนูญไปสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐไปแข่งกับเอกชน ผมศึกษาแล้วว่าทำได้ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ถ้าบริการนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมก็สามารถทำได้ ผมจึงขอรับผิดชอบเองถ้าสิ่งที่ทำไปแล้วผิด" 

 เขากล่าวต่อว่า ถ้ายังมี มาตรา 44 จะไปขอให้นายกรัฐมนตรี ช่วยแบ่งคลื่นความถี่มาให้รัฐวิสาหกิจทำ 5จี เพื่อบริการประชาชน แต่ตอนนี้ไม่มี มาตรา 44 แล้ว ทั้งหมดก็ต้องไปประมูลแข่ง และเห็นว่าภาครัฐต้องทำเพื่อให้มีบริการสำหรับประชาชน

“หากไปอยู่ในมือโอเปอร์เรเตอร์หากต้องการนำไปพัฒนาเพื่อสาธารณประโยชน์ซึ่งคงไม่ได้ให้ใช้ฟรีจะทำอย่างไร แต่หากโอเปอร์เรเตอร์บอกว่าให้ใช้ฟรีก็ยินดีจะถอนแคทและทีโอทีออกจากการประมูล” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

ส่วนการตั้งกรรมการ5จีแห่งชาติ ที่มีการตั้งคำถามถึงการแทรกแซงการทำงาน กสทช. ขอชี้แจงว่า การตั้งกรรมการ 5จี โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้นเป็นเรื่องจำเป็น การทำ 5จี ต้องทำให้มีความเชื่อมั่น เพื่อรองรับการลงทุนต่างประเทศ ให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่า เป็นสิ่งที่รัฐบาลสนับสนุนชัดเจน ยืนยันว่า กรรมการชุดนี้ไม่เกี่ยวกับการประมูล การประมูลเป็นอำนาจขององค์กรกำกับดูแล คือ กสทช ส่วนนโยบายให้เกิด 5จี เป็นนโยบายของชาติจึงต้องมีกรรมการ

อย่างไรก็ดี รัฐบาลมีความพยายามอย่างมากในการขับเคลื่อน บริหารประเทศประเทศโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งที่ผ่านมามีข้อบ่งชี้อย่างดีมากทำให้รู้ว่าประชาชนคนไทยมีความสามารถในการใช้ดิจิทัลอย่างดี ซึ่งตามจำนวนประชากร 66.4 ล้านคน มีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อจำนวนประชากรถึง 187% (Penetration Rate) มีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับอินเทอร์เน็ตถึง 108% และมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ถึง 82% ดังนั้น การให้บริการดิจิทัลจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศอย่างมาก

ย้ำไม่มี 5จี ไทยล้าหลัง

นายพุทธิพงษ์ กล่าว​ว่า ​หาก 5จี ไม่เกิดขึ้นตามกรอบเวลาที่วางไว้ จะทำให้ประเทศ​ไทยล้าหลังกว่าประเทศ​อื่น โดยเฉพาะ​ประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง สปป.ลาว, เวียดนาม, มาเลเซีย​ รวมถึง​ฟิลิปปินส์​ และเมื่อเป็นเช่นนั้น จะทำให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศ​นั้นๆ แทน

การขับเคลื่อนไปสู่ 5จี รัฐบาลจะเป็นผู้ขับเคลื่อนเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เพราะ 5จี จะไม่เกิดประโยชน์เฉพาะกับเรา แต่จะเกิดประโยชน์กับลูกหลานของเราในอีก 10-20 ปีข้างหน้า​ หาก 5จี ไม่เกิดขึ้นประเทศไทย​จะต้องสูญเสียเม็ดเงินในการลงทุน​นับล้านล้านบาท หรืออาจทำให้ลูกหลานเราต้องย้ายถิ่นฐานไปทำงานในประเทศ​เพื่อนบ้านแทน

“ก่อนผมมาทำงานในตำแหน่งตรงนี้ไม่เคยมีใครพูดว่า 5จี จะเกิดในไทยเมื่อไร แต่เมื่อเดือนที่ผ่านมาหลังประชุมร่วมกับรัฐมนตรีด้านโทรคมนาคมในประเทศอาเซียนทุกประเทศ ทำให้ทราบว่าเวียดนามประกาศใช้ 5จี เดือน มิ.ย.ปีหน้า ฟิลิปปินส์จะมีปีหน้าเช่นกัน ส่วนสปป.ลาวเริ่มทดสอบ 5จีแล้ว และสุดท้ายประเทศมาเลเซียประกาศว่าปีหน้าต้องเกิด 5จีขึ้น” 

นายพุทธิพงษ์ กล่าวย้ำว่า ถ้าไทยไม่มี 5จีจะไม่มีทางดึงดูดการลงทุนได้ การลงทุนของบริษัทใหญ่ๆ จะไปที่ประเทศที่พร้อม ซึ่งไทยปล่อยให้โอกาสหลุดไปไม่ได้ จากนี้จะนำ 5จีไปใช้ให้เป็นประโยชน์ด้านสาธารณสุข การรักษาพยาบาล การสัญจร และระบบคมนาคม

157673597794

3ค่ายพร้อมดัน5จี ขับเคลื่อนอุตฯ

นางอเล็กซานดร้า ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมในการสร้างสรรค์รูปแบบการใช้งาน 5จี ขึ้นมา เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในไทยได้

"จากรายงานของ กสทช. พบว่าหากประเทศไทยยังขาดซึ่งระบบนิเวศสำหรับ 5จี ภายในปี 2573 เราจะมีต้นทุนค่าเสียโอกาสถึง 2.3 ล้านล้านบาท สำหรับดีแทค เราคิดถึงสภาพการณ์นั้นอย่างจริงจัง เพราะเรามุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์การใช้งาน 5จี เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย"

ทั้งนี้ การเติบโตของ 5จี นั้นต่างจาก 4จี เป็น เพราะ 5จี มาจากการใช้งาน B2B และ B2B2C มากกว่าจากลูกค้าและผู้ให้บริการเครือข่าย ขณะเดียวกัน IHS Markit คาดการณ์ว่า 5จี จะเข้ามาส่งเสริมกิจกรรมการขายทั่วโลกกว่า 5% ในปี 2578 แต่จะมีเพียง 10.7% จากทั้งหมดที่มาจากข้อมูลและการสื่อสาร อีก 90% ที่เหลือมาจากอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การผลิต โลจิสติกส์ เกษตรกรรม และธุรกิจเพื่อ สุขภาพ

ดีแทค ขอทุกฝ่ายร่วมดัน 5จี 

“เราขอกระตุ้นให้องค์กรต่างๆ อย่ารอการมาของ 5จี อย่างเดียว เพราะผู้ที่จะส่งเสริมและทำการศึกษา 5จี เท่านั้นที่จะได้รับผลประโยชน์ สำหรับผู้ที่ยังไม่มีความตื่นตัวเรื่อง 5จี จะต้องเจอกับความเสี่ยงของความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้น เราต้องไม่ลืมว่ายังมีผู้ใช้บริการเครือข่ายกว่า 3 ล้านคนในประเทศไทยที่ยังใช้งาน 2จี อยู่ ซึ่งเราจำเป็นต้องพาพวกเขาเข้ามาอยู่ในอนาคต 5จี ของเราด้วย” 

ทั้งนี้ ดีแทคเชื่อว่า การแนะนำ 5จี อย่างค่อยเป็นค่อยไป จะทำให้ประเทศไทยมีเวลาในการเตรียมตัวเพื่อธุรกิจ และถึงเวลาเริ่มต้นแล้ว อุตสาหกรรมต้องระบุความต้องการประโยชน์ของ 5จี ที่สอดคล้องกับแนวทางพวกเขา และจะต้องลงทุนทรัพยากรที่พัฒนาสู่ 5จีพวกเขาจะต้องยอมรับวิธีการทำงานที่มุ่งเน้นความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริงในขณะที่ทำให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ และพวกเขาจะต้องหาพันธมิตรเพื่อร่วมมือที่เหมาะสมในการทำงานด้วย

อย่างไรก็ตาม นางอเล็กซานดร้า ยังแสดงความไม่เห็นด้วยที่ ทีโอที และกสท จะเข้าร่วมประมูลครั้งนี้ เพราะเหมือนเป็นภาครัฐที่มาลงแข่งกับเอกชน ขณะที่ใช้เงินของรัฐเข้ามาประมูล และเงินก็กลับไปเป็นรายได้ของภาครัฐอีก 

ทรูหวั่นประมูลแข่งราคาสูง

ขณะที่นายจักรกฤษ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการ ด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ต้องการให้ กสทช.เปิดประมูลเพียงคลื่นเดียว คือ คลื่น 2600 เมกะเฮิรตช์ แต่ติดปัญหาที่คลื่นนี้มีเพียง 190 เมกะเฮิรตช์ ซึ่งการพัฒนา 5จี ต้องใช้รายละ 100 เมกะเฮิรตช์ขึ้นไป เมื่อทั้ง ทรู ดีแทค เอไอเอส ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ต้องการคลื่นนี้ก็จะกลายเป็นการแข่งขันด้านราคาเกิดขึ้นอีก ดังนั้นกสทช.ควรนำคลื่น 3500 เมกะเฮิรตช์ จำนวน 300 เมกะเฮิรตช์ มาประมูลพร้อมกัน

ส่วนประเด็นให้ ทีโอที และกสทเข้าประมูลด้วย ยังมีคำถามว่าสองรัฐวิสาหกิจแม้จะบอก มีเงินเข้าร่วมประมูล แต่จะสามารถแข่งขันกับเอกชนได้หรือไม่ เพราะกระบวนการทำงานของรัฐวิสาหกิจค่อนข้างมีหลายขั้นตอนไม่ได้รวดเร็วเหมือนเอกชน

‘ต้องบอกว่าการขับเคลื่อน 5จี ไม่ใช่เรื่องของเอกชนเพียงฝ่ายเดียว รัฐบาลต้องสนับสนุนด้วย คณะกรรมการขับเคลื่อน 5จี แห่งชาติ ต้องเกิดเพื่อให้รู้ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและลงทุน 5จี ได้ตรงความต้องการ’

เอไอเอสชี้รัฐไม่ควรแข่งเอกชน 

นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ทีโอที กับ กสท โทรคมนาคม เป็นภาครัฐจึงไม่ควรทำธุรกิจแข่งกับเอกชน ควรมองที่โครงข่ายพื้นฐาน ท่อร้อยสาย ซับมารีน เคเบิล และการให้บริการดาวเทียมมากกว่า

สำหรับเอไอเอสพร้อมจะสนับสนุนรัฐบาลในการประมูล 5จี เต็มที่ แต่มีความเห็นว่า กสทช.ไม่ควรรีบประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตช์ เพราะกว่าจะใช้งานได้ต้องรอ 2 ปี เนื่องจากคลื่นยังมีปัญหา ส่วนคลื่น 1800 เมกะเฮิรตช์ ที่เหลืออยู่ ก็แพงเกินไป ขณะที่แม้ว่าคลื่น 2600 เมกะเฮิรตช์ ถือว่าเป็นคลื่นที่ดีที่สุด แต่ก็ไม่สากลเท่าคลื่น 3500 เมกะเฮิรตช์ และ คลื่น 26 กิกะเฮิรตช์ เทคโนโลยียังไม่พร้อม ดังนั้นจึงเสนอให้เปิดทดลองใช้ก่อนการประมูล