ครม.ฉลุยควบรวมทีโอที-กสทฯ
ปลดล็อคองค์กรรัฐวิสาหกิจสู่ “เอ็นที” สู้ศึกอุตฯโทรคม
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบหลักการให้ทีโอทีและกสทฯเข้าร่วมประมูล 5จีตามความเหมาะสม ที่เปิดการประมูลคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ , 1800 เมกะเฮิรตซ์ , 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ตามเงื่อนไขประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เกี่ยวข้องที่จะเปิดประมูลในวันที่ 16 ก.พ. 2563 นี้ ขณะเดียวกันได้มีมติยกเลิก มติ ครม. เมื่อ 13 มิ.ย. 2560 ที่เห็นชอบให้ตั้งเป็น 2 บริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (เอ็นบีเอ็น) กับ บริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์ จำกัด (เอ็นจีดีซี) และให้รับพนักงานที่ลาออกกลับเข้าทำงานในหน่วยงานต้นสังกัดเดิม โดยตำแหน่ง และสวัสดิการเดิมในวันที่ลาออก และให้นับอายุงานต่อเนื่องได้
สำหรับแนวทางการหาประโยชน์จากทรัพย์สินร่วมกันระหว่าง ทีโอที และ กสทฯ มีเป้าหมายเดียว จากที่คณะกรรมการ (บอร์ด) 2 องค์กรเคยได้ข้อสรุปร่วมกันคือรวมทั้งสองบริษัทนั้น ทำพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อน และความแข็งแกร่งขององค์กรในอนาคต พร้อมตั้งคณะกรรมการ เพื่อศึกษาพิจารณาแนวทางโอนย้าย งาน ทรัพย์สิน สิทธิการใช้คลื่น และพนักงาน จากนั้นจะทยอยโอนย้ายรวมทั้งจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อทำธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่กระทบด้านคดีและข้อพิพาทระหว่าง ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม
โดยเฉพาะคดีหรือข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับบริษัทเอกชน และไม่มีผลกระทบกับสิทธิการใช้คลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ และ 2300 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งการรวมเป็นนิติบุคคลเดียว โดยระยะแรกกสทฯและ ทีโอที เป็นบิสซิเนส ยูนิตแบบเบ็ดเสร็จภายใต้เอ็นที และตั้งคณะกรรมการควบรวมเพื่อศึกษาด้านกฎหมาย และคดีความด้านการเงิน-แผนธุรกิจ ด้านโครงสร้างและบุคลากร และระยะการเปลี่ยนผ่าน (ทรานซิสชั่น พีเรียด)