ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออินเดียขอใช้เวลาตามไทม์โซน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออินเดียขอใช้เวลาตามไทม์โซน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียเสนอขอใช้เวลาตามไทม์โซน แทนเวลามาตรฐานอินเดีย

ประเทศอินเดียที่กว้างใหญ่ไพศาลแต่ใช้เวลาเดียวกันทั้งประเทศ ทำให้เกิดปัญหาช่วงเวลาที่แตกต่างกันมาก จึงมีการรณรงค์ให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือปรับเวลาตามไทม์โซน แทนที่จะใช้เวลามาตรฐานอินเดียเหมือนกันทั่วประเทศ

ประเทศอินเดียซึ่งมีประชากร 1,200 ล้านคน และมีพื้นที่กว้างขวางตั้งแต่ทิศตะวันออกซึ่งไกลกว่าบังกลาเทศ ไปจนถึงทิศตะวันตกจรดทะเลอาหรับ ทั้งประเทศใช้เวลามาตรฐานเดียวกันตามเวลาเมืองอุตตรประเทศซึ่งตั้งอยู่แถบเส้นแวงที่อยู่ใกล้กับศูนย์กลางประเทศมากที่สุด

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ได้เอกราชจากอังกฤษ อินเดียใช้เวลาเดียวกันมาโดยตลอด แต่รัฐมนตรีหลายคนของรัฐบาลท้องถิ่นแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มมองว่า เวลามาตรฐานอินเดีย (ไอเอสที) ไม่ค่อยสมเหตุผลสมผล พื้นที่แถบนี้ตั้งอยู่ใกล้กับกรุงธากาของบังกลาเทศมากกว่ากรุงนิวเดลี และเวลาที่กรุงธากาก็เร็วกว่ากรุงนิวเดลีอยู่ 30 นาที อีกทั้งรัฐแถบตะวันออกเฉียงเหนือยังมีพรมแดนร่วมกับจีน เมียนมา ภูฏาน และบังกลาเทศ

ในช่วงฤดูร้อนซึ่งเป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรมากที่สุด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ห่างไกลพระอาทิตย์ขึ้นเมื่อเวลา 4.15 น. ก่อนฝั่งตะวันตกของอินเดีย 90 นาที และตกที่เวลา 18.15 น.

นักรณรงค์มองว่า สถานการณ์เช่นนี้ขัดขวางพัฒนาการของภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วยรัฐที่ยากจนที่สุดของอินเดียหลายรัฐ ส่งผลกระทบต่อผลิตภาพและเพิ่มต้นทุนการเปิดไฟส่องสว่างให้กับบ้านเรือนและอาคารสำนักงานหลายพันล้านดอลลาร์

นายอารัพ กุมาร ดัตตา นักเขียนในรัฐอัสสัม ผู้รณรงค์เรื่องการปรับเปลี่ยนเวลาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียกล่าวว่า เห็นได้ชัดว่าเกิดการสูญเสียพลังงานและชั่วโมงการทำงาน คนเรามักกระปรี้กระเปร่าในตอนเช้า แต่เอาเข้าจริงต้องไปสำนักงานตอน 10.00 น. ซึ่งหมดแรงไปแล้ว

นายจาห์นุ บาเรา นักรณรงค์อีกคนหนึ่งซึ่งใช้เวลาหลายสิบปีรณรงค์เรื่องการแบ่งเวลาตามไทม์โซนเชื่อว่า นโยบายนี้ซึ่งตั้งใจจะสร้างความเป็นเอกภาพให้กับอินเดียที่เพิ่งได้รับเอกราชจากอังกฤษในตอนนั้น ได้สร้างความแปลกแยกอย่างรุนแรงให้กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดินแดนแห่งชนเผ่าซึ่งมีการต่อสู้ของกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดน

ด้านนายอาคิล รันจัน ดัตตา อาจารย์รัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกูวาฮาตีในอัสสัม กล่าวว่า เขาเพิ่งเห็นปัญหาเรื่องเวลาเมื่อย้ายจากชนบทเข้ามาศึกษาต่อในเมืองหลวงของรัฐ ตอนอยู่ในหมู่บ้านเขาเข้านอนเวลา 19.00 น. และตื่นเมื่อเวลา 2.00-3.00 น. แต่เมื่อเข้ามาเรียนหนังสือ เขาปรับเวลาไม่ได้ เพื่อน ๆ ก็หัวเราะเยาะ ประเทศที่กว้างใหญ่อย่างอินเดียควรใช้เวลาแบบไทม์โซนได้แล้ว ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลง

ประเทศใหญ่ ๆ หลายประเทศ เช่น สหรัฐ ไม่รวมเขตแดนในแปซิฟิกและอะแลสกา มี 4 ไทม์โซน แผ่นดินใหญ่ออสเตรเลียมี 3 ไทม์โซน รัสเซียมี 9 ไทม์โซน แต่จีนยังใช้เวลามาตรฐานเดียว

อย่างไรก็ตาม แผนการใช้เวลาตามไทม์โซนในอินเดียก่อนหน้านี้กลับไม่มีใครสนใจเมื่อปี 2549 คณะกรรมการวางแผนของอินเดีย กล่าวว่า การมีสองไทม์โซนจะช่วยให้อินเดียซึ่งมีปัญหาไฟฟ้าดับบ่อยครั้งประหยัดพลังงานได้มาก แต่รัฐบาลกลางกลับปฏิเสธแผนนี้

ครั้นเมื่อนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันการศึกษาก้าวหน้าแห่งชาติในบังกาลอร์ ศึกษาถึงปัญหาในปี 2550 ได้ข้อสรุปว่าการแบ่งไทม์โซนจะทำให้วุ่นวาย จึงสนับสนุนให้ปรับเวลาเร็วกว่าเวลาไอเอสที 30 นาทีแทน

ล่าสุด รัฐบาลใหม่ของอัสสัม ซึ่งนำโดยพรรคภราติยะ ชนตะ (บีเจพี) ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ได้จุดประกายความหวังใหม่ขึ้นมานายหิมันตา บิสวา สาร์มา รัฐมนตรีอาวุโสที่ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้นำพาชัยชนะในอัสสัมมาให้พรรคบีเจพี กล่าวว่า ส.ส.ท้องถิ่นวางแผนนำเสนอต่อรัฐบาลกลางในเดลี ให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้เวลาตามไทม์โซน ไม่เช่นนั้นแล้วจะเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจบางคนคิดว่า นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดน จึงมีเหตุผลโต้แย้งมากมาย แต่เขาเชื่อว่า สังคมอินเดียพัฒนาไปมากแล้ว