เปิดภารกิจนักเรียนกู้โลก
โลกร้อนไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่เป็นหายนะทางสภาพแวดล้อม และในเมื่อผู้ใหญ่แก้ปัญหาไม่ได้ เด็กๆ ทั่วโลกต้องออกโรงเรียกร้องถือเป็นการรวมตัวต่อต้านโลกร้อนครั้งใหญ่สุดของโลก
เมื่อวันศุกร์ (20 ก.ย.) เด็กทั่วโลกรวมตัวกันเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ลงมือหยุดโลกร้อนได้แล้ว ไล่จากทวีปเอเชียตั้งแต่ซิดนีย์ ไปจนถึงโซล มะนิลา และมุมไบ เด็กๆ ตอบรับข้อเรียกร้องของ เกรตา ธันเบิร์ก วัยรุ่นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน ที่ขอให้เด็กๆ โดดเรียนไปช่วยกันเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ลงมือจริงๆ จังๆ เสียที
ที่ออสเตรเลีย นักเรียน ผู้ปกครอง และผู้สนับสนุน มารวมตัวกันกว่า 3 แสนคน มากกว่าการเดินขบวนครั้งก่อนเมื่อเดือน มี.ค.ถึงกว่า 2 เท่า ตอนนั้นออสเตรเลียถือเป็นหนึ่งในพื้นที่แรกๆ ที่ชุมนุม “วันศุกร์เพื่ออนาคต” 5,000 รายการทั่วโลก
พวกเขาเรียกร้องให้นักการเมืองและภาคธุรกิจลงมือหยุดโลกร้อนอย่างจริงจัง เพราะนักวิทยาศาสตร์เตือนว่า ถ้ายังปล่อยให้เป็นไปแบบนี้โลกร้อนจะทำให้เกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่
แค่ตัวเลขในเอเชียก็ถือว่ามากมายกว่าครั้งล่าสุดเมื่อเดือน พ.ค.แล้ว ยิ่งได้ตัวเลขจากนิวยอร์กมาเพิ่มยิ่งทรงพลัง ที่นี่มีโรงเรียนรัฐบาลราว 1,800 โรง นักเรียน 1.1 ล้านคน วันก่อนนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กประกาศด้วยตนเองว่า สนับสนุนให้เด็กโดดเรียนไปประท้วง
ส่วนตัวธันเบิร์ก สาวน้อยวัย 16 ปี ผู้ริเริ่มจุดกระแส ยืนยันว่า พวกผู้ใหญ่ไม่คิดจะหาทางออก เพราะฉะนั้นเด็กๆ ควรรับหน้าที่เสียเอง
ความฮึกเหิมเกิดขึ้นทั่วเอเชีย ไม่เว้นแม้แต่ที่กรุงเทพฯ “เราคืออนาคต และอนาคตเราต้องดีกว่านี้” ลิลลี่ สถิตธนาสาร กล่าว เธอรณรงค์ต่อต้านการแจกถุงพลาสติกของห้างสรรพสินค้าจนได้ฉายา “เกรต้าเมืองไทย”
“ผู้ใหญ่ก็ดีแต่พูด แต่ไม่ทำอะไร เราไม่อยากได้คำแก้ตัว” ลิลลี่เผยกับสำนักข่าวเอเอฟพี
ที่อินเดีย เด็กนักเรียนรวมตัวกันทั้งในกรุงนิวเดลีและมุมไบ ส่วนที่ฟิลิปปินส์ที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า เสี่ยงเจอภัยคุกคามจากน้ำทะเลเพิ่มสูงและพายุรุนแรง นักเรียนมาร่วมชุมนุมหลายพันคน
“ชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากรู้สึกถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว เช่น ไต้ฝุ่น ฉันไม่แน่ใจว่าพวกเราจะเป็นแนวหน้าต้านโลกร้อนได้หรือไม่ แต่ก็อยากให้เป็นอย่างนั้น” ยานนา ปาโล วัย 23 ปี กล่าวขณะร่วมเดินขบวนในกรุงมะนิลา
อย่างไรก็ตาม แม้กระแสจะมาแรง ทางการท้องถิ่นออสเตรเลียบางแห่ง รวมถึงโรงเรียนและภาคธุรกิจสนับสนุนให้ประชาชนออกมาร่วมรณรงค์ แต่ก็มีโรงเรียนที่ขู่ว่า เด็กคนไหนโดดเรียนจะต้องมีเหตุผล ด้วยเหตุนี้นักเรียนหลายคนจึงลังเล
“เรามาเพื่อส่งสารถึงนักการเมืองที่อยู่ในอำนาจ บอกให้พวกเขารู้ว่าเราห่วงใยโลก และเรื่องนี้สำคัญกับเรามาก ไม่งั้นเราจะไม่มีอนาคต” วิล คอนเนอร์ วัย 16 ปีกล่าวอย่างขึงขัง
ทวีปออสเตรเลียนั้นร้อนแล้งเต็มไปด้วยฝุ่น ยิ่งวันเวลาผ่านไปผู้คนที่นี่ยิ่งถกเถียงกันเรืื่องโลกร้อนและสภาพแวดล้อมเปลี่ยนมากขึ้น เรื่องเหล่านี้กลายเป็นประเด็นประจำวันไปแล้ว
ออสเตรเลียเป็นผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่สุดรายหนึ่งของโลก และยังเดินหน้าอนุมัติให้ทำเหมืองถ่านหินใหม่ๆ เพื่อสร้างงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โตต่อเนื่อง 3 ทศวรรษ พร้อมๆ กับรับผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาออสเตรเลียเกิดภัยแล้งหนักที่สุดเป็นประวัติการณ์ ไฟป่ารุนแรง น้ำท่วมหนัก และปะการัง “เกรตแบริเออร์รีฟ” ฟอกขาว
การรณรงค์รักสิ่งแวดล้อมในออสเตรเลียไม่ได้มีแต่เด็กๆ เท่านั้น ผู้ใหญ่และภาคธุรกิจก็ร่วมด้วย “ฟิวเจอร์ซูเปอร์” กองทุนบำเหน็จบำนาญอสเตรเลียประกาศกร้าว “เจอกันบนท้องถนน” หนุน 2,000 บริษัทร่วมแคมเปญ แม้แต่เจฟฟ์ เบซอส เจ้าพ่ออเมซอน ให้คำมั่นเมื่อวันพฤหัสบดี (19 ก.ย.) จะทำให้อเมซอน บริษัทค้าปลีกและเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐ เป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2583 และเรียกร้องให้บริษัทอื่นทำแบบเดียวกัน
การชุมนุมที่นิวยอร์กจึงถือเป็นการรณรงค์ต้านโลกร้อนครั้งใหญ่ ก่อนการประชุมผู้นำเยาวชนด้านสภาพอากาศที่สหประชาชาติจะเริ่มขึ้นในวันเสาร์ (21 ก.ย.) จากนั้นแอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ จะเรียกประชุมผู้นำฉุกเฉินในวันจันทร์ (23 ก.ย.) เรียกร้องให้ผู้นำโลกยกระดับคำมั่นที่ประกาศไว้ในข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อปี 2558
ตามข้อตกลงปารีสประเทศภาคีรับปากว่าจะควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม หากเป็นไปได้จะไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือ สัปดาห์หน้ายูเอ็นจะเปิดเผยรายงานฉบับสำคัญ ชี้ให้เห็นว่าโลกร้อนและมลพิษกำลังทำลายมหาสมุทรและเขตน้ำแข็งอย่างมหาศาล ถึงขนาดสร้างภัยพิบัติระดับโลกได้ รายงานฉบับนี้คงเป็นกระจกสะท้อนทุกคนบนโลกว่า ถึงเวลาต้องลงมือป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังได้แล้ว