‘โบอิง-แอร์บัส’ ขาดทุนยับเซ่นพิษโควิด จ่อลดผลิตเครื่องบินเพิ่ม
วิกฤติการระบาดของโควิด-19 ยังสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการบินโลกอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด 2 ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตเครื่องบิน “โบอิง” และ “แอร์บัส” รายงานผลขาดทุนมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และเตรียมลดการผลิตเครื่องบินรุ่นหลักลงอีก
บริษัทโบอิง ผู้ผลิตเครื่องบินสัญชาติสหรัฐ รายงานผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 เมื่อวันพุธ (29 ก.ค.) พบว่า ขาดทุนถึง 2,400 ล้านดอลลาร์ และรายได้ในช่วงเวลาเดียวกันลดลง 25% เหลือ 11,800 ล้านดอลลาร์
นายเดวิด แคลฮูน ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของโบอิง กล่าวว่า ตัวเลขในไตรมาส 2 “ย่ำแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้มาก” และสะท้อน “ความเป็นจริง” ว่าวิกฤติการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลกระทบแสนสาหัสต่ออุตสาหกรรมการบิน และสถานการณ์จะยังคงเป็นแบบนี้ต่อไป “นานอีกระยะหนึ่ง”
ซีอีโอของโบอิงคาดว่า ต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปี กว่าที่อุตสาหกรรมการบินจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนโควิด-19 ระบาด
“ความต้องการเดินทางซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำ ด้วยข้อจำกัดหลายประการโดยเฉพาะมาตรการควบคุมโรคที่พรมแดนของทุกประเทศ ทำให้ลูกค้าชะลอการซื้อ ผู้ผลิตต้องเลื่อนการส่งสินค้า และบริการซ่อมบำรุงหลายด้าน”
โบอิงได้ปรับลดการผลิตเครื่องบินตระกูล 777 และ 787 และเลื่อนการเปิดตัวเครื่องบินรุ่นใหม่ 777เอ็กซ์ อย่างเร็วที่สุดคือภายในปี 2565
นอกจากนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว โบอิงจะยุติการผลิตเครื่องบินโดยสารจัมโบ 747 หลังใช้งานมานานครึ่งศตวรรษ และภายในสิ้นปีนี้ พนักงานของโบอิงราว 19,000 คน จะถูกเลิกจ้างก่อนกำหนด โดยราว 1 ใน 3 ของจำนวนดังกล่าวออกจากบริษัทไปเมื่อสิ้นเดือน มิ.ย.
ทั้งนี้ ข้อมูลช่วงต้นปีนี้ระบุว่า โบอิงมีพนักงานทั่วโลกประมาณ 161,900 คน
ในวันเดียวกัน “แอร์บัส” คู่แข่งผู้ผลิตเครื่องบินจากยุโรป รายงานผลประกอบการช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า ขาดทุน 1,900 ล้านยูโร และรายได้ในช่วงเวลาเดียวกันลดลง 39% เหลือ 18,900 ล้านยูโร ขณะที่ยอดการส่งมอบเครื่องบินในช่วงเวลานี้ยังลดลง 50% เหลือเพียง 196 ลำ
นายกีโยม โฟรี ซีอีโอของแอร์บัสกล่าวว่า วิกฤติการระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบหนักที่สุดในขณะนี้ ในภาพรวม บริษัทลดการผลิตเครื่องบินแล้ว 40% รวมถึงการลดการผลิตเอ350 ลงอีก จากเดือนละ 6 ลำหรือเดือนละ 5 ลำ จากที่เคยมีสถิติ 9 ลำต่อเดือน เมื่อเดือน เม.ย.
แอร์บัส ซึ่งปัจจุบันมีพนักงานราว 135,000 คนทั่วโลก ประกาศจะเลิกจ้างพนักงาน 15,000 คนภายในกลางปี 2564 โดลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่อยู่ในฝรั่งเศสและเยอรมนี